วิธีสังเกตอาการท้องแข็ง แบบต่าง ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์
สังเกตอาการท้องแข็ง เพราะมดลูกบีบตัว
อาการท้องแข็ง เพราะมดลูกบีบตัว เป็นอาการที่มดลูกในท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการแข็งทั้งหมด ไม่ใช่อาการแข็งเป็นบางจุดเหมือนอาการท้องแข็งเพราะสาเหตุเด็กโก่งตัว และจะมีอาการปวดท้อง เหมือนปวดประจำเดือนร่วมด้วย โดยอาการท้องแข็งเพราะมดลูกบีบตัวนั้น มี 2 สาเหตุหลัก คือ
1.ท้องแข็ง จากมดลูกบีบตัวก่อนกำหนด
โดยทั่วไปอาการท้องแข็งลักษณะนี้ จะเป็นอาการท้องแข็งจากมดลูกบีบตัวก่อนกำหนด มักพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ลูกในครรภ์จะดิ้นมากที่สุด การที่ลูกดิ้นมาก ๆ ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มการกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้น
ซึ่งหลังจากช่วงอายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์ไปแล้ว อาการท้องแข็งของคุณแม่จะลดลง คุณแม่บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บท้องคลอดจนเลยกำหนดคลอดก็อาจเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรเฝ้าระวังอาการอยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการท้องแข็งบ่อย ถี่ขึ้น หรือรู้สึกแข็งมากจนหายใจไม่ออก เมื่อพบอาการลักษณะนี้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดได้
2. ท้องแข็ง ตามธรรมชาติ (Braxton Hicks Contraction)
อาการท้องแข็งหรือมดลูกบีบตัวเป็นธรรมชาติของการตั้งครรภ์ ซึ่งหากคุณแม่มีอาการบีบตัวของมดลูกหรือท้องแข็งนิดหน่อย หรือที่เรียกว่า ท้องแข็งตามธรรมชาติ Braxton Hicks Contraction ซึ่งลักษณะท้องแข็งแบบนี้ถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างไร
สำหรับอาการท้องแข็งรูปแบบอื่น ๆ ที่ควรสังเกตเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกหรือกังวลกับการตั้งครรภ์ของคุณแม่ ได้แก่
1.ท้องแข็งจากการโก่งตัวของลูกในท้อง
อาการท้องแข็งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เจอกันบ่อย คือแบบท้องแข็งที่เกิดจากการโก่งตัวของลูกน้อยในครรภ์ ที่ลูกในท้องดิ้น และการโก่งตัวโดยอวัยวะของลูกในท้อง เช่น ศอก ไหล่ หัว เข่าหรือก้น อาการท้องแข็งแบบนี้ไม่มีอันตราย
2.ท้องแข็งจากการกินของแม่ตั้งครรภ์ที่อิ่มมาก
อาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นหลังจากที่คุณแม่กินข้าวเสร็จ รู้สึกแน่นและอึดอัดท้อง สามารถแก้ไขอาการท้องแข็งได้ด้วยการนั่งพัก แล้วยืดตัวยาว เหยียดขาให้ดูสบาย ผ่อนคลาย สักพักอาการจะผ่อนคลายและดีขึ้นตามลำดับ ควรเลือกทานอาหารที่อ่อน ๆ จะช่วยให้การย่อยได้ง่ายขึ้น ไม่แน่นท้องและช่วยให้การขับถ่ายของคุณแม่ดีขึ้น
นอกจากนั้น อาการท้องแข็งยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น สุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง หรือเกิดจากมดลูกไม่แข็งแรง มีเนื้องอกในมดลูก เป็นต้น
การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เมื่อเกิดอาการท้องแข็งของคุณแม่ตั้งครรภ์
-ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้ออย่างพอเหมาะและพอควร ไม่อิ่มมากจนเกินไป
-เมื่อปวดปัสสาวะให้เข้าห้องน้ำทันที ไม่ควรกลั้นปัสสาวะบ่อย
-ช่วงใกล้คลอดของไตรมาสสุดท้าย ควรงดการมีเพศสัมพันธ์
หากคุณแม่มีอาการท้องแข็งมากและบ่อยขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์
เมื่อเรียนรู้และเข้าใจอาการท้องแข็งของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยให้คุณแม่สามารถสังเกตอาการได้อย่างใกล้ชิดและถูกต้อง เพื่อสามารถดูแลและเตรียมตัวได้อย่างระมัดระวังปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
เครดิตแหล่งข้อมูล :maerakluke
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!