อันตรายหรือไม่...หากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเดินทางไกล
ในบทความนี้ผมจึงขอเน้นการเดินทางไกลด้วยรถยนต์และเครื่องบิน ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยนิยมเดินทางกันเพื่อจะเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางได้อย่างสบายใจ
ลำดับแรก...เรามาเริ่มต้นที่ระยะการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยกันก่อนดีกว่า...
ให้จำหลักการง่าย ๆ ว่าการเดินทางไกลในระยะไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์มากกว่า 14 สัปดาห์ จนถึงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์) สบายและปลอดภัยมากที่สุด เพราะพ้นจากระยะแท้งและยังไม่เข้าระยะคลอด ขณะที่ระยะที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ระยะไตรมาสแรก (0-14 สัปดาห์) เนื่องจากยังมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร และภายหลังอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ซึ่งเสี่ยงต่อการคลอด ขณะที่หากต้องการเดินทางไกลระหว่างอายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์ซึ่งเป็นระยะไตรมาสที่ 3 และคุณแม่บางคนอาจเริ่มมีอาการท้องแข็งหรือเจ็บครรภ์หลอกเกิดขึ้นได้ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแล ในกรณีเดินทางโดยเครื่องบิน แนะนำให้ศึกษาข้อกำหนดการเดินทางของแต่ละสายการบินเนื่องจากมีความแตกต่างกัน
ลำดับต่อมา... คุณแม่กลุ่มใดควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล
คุณแม่ส่วนใหญ่สามารถเดินทางไกลได้โดยไม่ต้องกังวลในระยะการตั้งครรภ์ที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะมีเพียงคุณแม่บางกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลโดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบิน ได้แก่ มารดาที่มีโรคประจำตัวซึ่งยังควบคุมได้ไม่ดี มารดาที่มีความดันโลหิตสูงหรือครรภ์เป็นพิษ มารดาที่มีรกเกาะต่ำ มารดาที่มีภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การตั้งครรภ์แฝด เป็นต้น เนื่องจากภาวะเหล่านี้อาจกำเริบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะเดินทางได้และหากมีข้อสงสัย คุณแม่สามารถสอบถามหรือปรึกษาภาวะที่ควรหลีกเลี่ยงจากแพทย์ผู้ฝากครรภ์ได้เสมอครับ
ในกรณีเดินทางด้วยรถยนต์ ต้องกำชับให้คนขับขับด้วยความระมัดระวัง แนะนำให้หยุดพักรถเป็นระยะ ๆ เพื่อให้คุณแม่ได้ยืดเหยียด ลุกยืน หรือเดิน เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งพบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์เนื่องจากการทำงานเพิ่มขึ้นของระบบการแข็งตัวของเลือด จึงไม่ควรขับรถรวดเดียวในระยะทางไกล ๆ ขณะที่คุณแม่ควรสวมชุดที่หลวมสบาย และสวมเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง โดยให้สายเข็มขัดด้านล่างอยู่ใต้ต่อหน้าท้องที่ตั้งครรภ์บริเวณเอว และสายเข็มขัดด้านบนพาดอยู่เหนือหน้าท้องที่ตั้งครรภ์ พาดไประหว่างเต้านมทั้งสองข้าง โดยไม่รัดหน้าท้อง
ขณะที่การเดินทางด้วยเครื่องบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ต้องตรวจสอบให้ดีว่าประเทศที่จะไปเกิดโรคระบาดใดหรือไม่ เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันหากสามารถทำได้หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงโรคระบาด เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าคนปกติทั่วไป และในขณะนั่งเครื่องบินแนะนำให้ปฏิบัติตัวเพื่อลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่ ดื่มน้ำให้มากเพียงพอ แต่งกายด้วยชุดที่หลวมสบาย และหมั่นขยับร่างกายหรือลุกยืนหรือเดินเป็นระยะ ๆ ในช่วงเวลาที่กัปตันอนุญาตให้ปลดเข็มขัดนิรภัยได้
สำหรับอาการผิดปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องคอยสังเกต และหากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์ ได้แก่
• ปวดท้องหรือเจ็บครรภ์
• น้ำเดิน
• มูกหรือเลือดออกจากช่องคลอด
• อาการแสดงของครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ ปวดศีรษะ ตามัว ปวดท้องใต้ลิ้นปี่ แขนขาบวมผิดปกติและไม่ยุบหายไปเอง
• คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
• มีอาการแสดงของลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่ ปวดขา ขาบวม ร้อน หรือกดเจ็บ โดยเฉพาะเวลายืนหรือเดิน ผิวหนังบริเวณขาแดงมากกว่าปกติ เป็นต้น
สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด... ขณะเดินทางต้องขอใบรับรองแพทย์ (โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ) และพกสมุดฝากครรภ์ติดตัวไว้ตลอดเวลา เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เอกสารเหล่านี้จะทำให้แพทย์สามารถทราบได้ว่าสถานะการตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นอย่างไร อายุครรภ์เท่าไร ผลเลือดเป็นอย่างไร มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ และทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้เร็วขึ้น
จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากหากคุณแม่ตั้งครรภ์อยากไปเที่ยว... แค่ขอให้คนสำคัญคือคุณพ่อ คอยระมัดระวังหรือดูแลอย่างใกล้ชิดก็พอแล้ว... เห็นด้วยมั้ยครับเครดิตแหล่งข้อมูล : babylove