รู้ไหม! หมอใช้วิธีใด กระตุ้นปากมดลูก ให้คลอดเร็วขึ้น
1.การออกกำลังกายด้วยวิธีการเดิน
โดยคุณแม่ควรเดินออกกำลังกายอย่างช้า ๆ ไม่เร่งจังหวะการเดินออกกำลังกายมากจนเกินไป และควรมีคุณพ่อหรือญาติร่วมเดินออกกำลังกายไปเป็นเพื่อน เพื่อเฝ้าระวังหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น การออกกำลังกายด้วยวิธีการเดินนี้จะช่วยให้ตำแหน่งของลูกน้อยในครรภ์เคลื่อนมาในตำแหน่งที่ต่ำลงและช่วยเร่งให้คุณแม่เกิดอาการหน่วง ซึ่งนำไปสู่ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการคลอดนั่นเอง
2.การออกกำลังกายด้วยวิธีการใช้ Fit Ball
วิธีการนี้ก็ควรมีคุณพ่อหรือญาติร่วมออกกำลังกายหรือเฝ้าระวังด้วยอีกเช่นกัน สำหรับวิธีการคือให้คุณแม่เคลื่อนตัวขึ้นลงตาม Fit Ball ที่คุณแม่นั่งทับอยู่ ส่วนนี้จุดที่ต้องเฝ้าระวังก็คือการทรงตัวของคุณแม่บน Fit Ball ที่เป็นทรงกลมขนาดใหญ่นั่นเอง
3.การกระตุ้นที่หัวนมและลานนม
กระตุ้นที่หัวนม หรือ Breast Stimulation ด้วยวิธีการดูดหัวนมหรือนวดคลึงบริเวณลานนมอย่างแผ่วเบาครั้งละประมาณ 15 - 20 นาทีวันละหลาย ๆ ครั้ง วิธีการนี้จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่เกิดการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่อใกล้การคลอด อย่างไรก็ดีวิธีการนี้มีข้อจำกัดคือ คุณแม่ที่จะใช้วิธีการนี้ได้ผลปากมดลูกต้องเปิดแล้ว หากปากมดลูกยังไม่เปิดการกระตุ้นที่หัวนมและลานนมก็จะไม่ส่งผลใดต่อการเร่งคลอด
4.การมีกิจกรรมทางเพศด้วยวิธีการสอดใส่
ส่วนนี้คุณแม่คงต้องอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อร่วมด้วย จุดที่ต้องระวังคือ การมีกิจกรรมทางเพศในท่วงท่าที่ปลอดภัยอย่างแผ่วเบา ซึ่งการมีกิจกรรมทางเพศแบบสอดใส่จะช่วยให้เกิดการบีบตัวของมดลูก รวมถึงน้ำอสุจิในคุณพ่อก็มีโปรสตาแกลนดินส์ซึ่งลักษณะคล้ายกับฮอร์โมนที่ช่วยในส่วนของการคลอดของคุณแม่
5.การกวาดปากมดลูก
วิธีการนี้คุณหมอจะใช้นิ้วค่อย ๆ กวาดไปรอบ ๆ ปากมดลูก เพื่อให้เกิดการขยายตัวของปากมดลูก แล้วทำให้เกิดการปวดท้องคลอด
กรณีไหนบ้างที่ต้องกระตุ้น
การกระตุ้นปากมดลูกให้เกิดการเร่งคลอดต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคุณหมอร่วมกับทางคุณพ่อคุณแม่ โดยคุณหมอจะแนะนำให้ใช้วิธีเร่งคลอดในกรณี ดังต่อไปนี้
ถุงน้ำคร่ำเกิดการแตกก่อนคุณแม่จะเจ็บท้องคลอด ในส่วนนี้คุณหมอจะเร่งให้เกิดคลอดเลย เพราะเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงเสี่ยงต่อความพิการของทารกได้
เกิดความผิดปรกติของทารกในครรภ์ เช่น ทารกเติบโตช้ากว่ากำหนด หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ส่วนนี้คุณหมอจะเร่งคลอดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย
เกิดความผิดปรกติของร่างกายคุณแม่ เช่น คุณแม่มีความดันโลหิตสูง หรือ ครรภ์เป็นพิษ
เราจะพบว่าการกระตุ้นปากมดลูกเป็นวิธีที่ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมระหว่างคุณหมอ และคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการคลอดต้องปรึกษาคุณหมออย่างใกล้ชิดและตัดสินใจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มากที่สุด
เครดิตแหล่งข้อมูล : maerakluke