4 โรคติดเชื้อที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง
ตลอด 9 เดือนของการตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะกังวลเกี่ยวกับลูกน้อยในครรภ์ว่าเขาจะปกติดีไหม มีโรคหรือภาวะติดเชื้ออะไรจากการป่วยของคุณแม่หรือเปล่า เพื่อให้ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย คุณแม่จึงควรมีความรู้และใส่ใจในการดูแลตัวเองให้พ้นจากโรคติดเชื้อต่างๆ ที่จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
4 โรคติดเชื้อที่อันตรายระหว่างตั้งครรภ์ มีโรคอะไรบ้างนะ?
โรคสุกใส
โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศและการสัมผัส โรคนี้มีระยะฟักตัว 10-20 วัน แต่เมื่อเป็นแล้วมักมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เป็นซ้ำอีก บางรายเชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทและมีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลัง
ถ้ามีการติดเชื้อสุกใสในหญิงตั้งครรภ์ระยะสามเดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เช่น แขนขาผิดปกติ จอประสาทตาอักเสบและตาบอดได้ ลำไส้ตีบฝ่อเป็นช่วงๆ และมีความผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นสุกใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นสุกใสชนิดรุนแรงได้
โรคอีสุกอีใสจะแสดงอาการเหมือนกัน ไม่ว่าขณะตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ นั่นคือ การเกิดตุ่มคัน ซึ่งอาจมีเลือดออกหรือไม่ก็ได้ มีหายใจติดขัด เจ็บที่หน้าอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีไข้สูง มีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาการเลือดออกทางช่องคลอดถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
การป้องกันปัจจุบันสุกใสสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนนี้ไม่สามารถทำได้ในขณะตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์จึงควรป้องกันตนเองโดยไม่อยู่ใกล้ชิดคนที่เป็นโรค และพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะที่แออัด โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโรค
โรคหัดเยอรมัน
เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีอาการไม่รุนแรงมาก โรคนี้จะติดต่อถึงกันได้ทางการหายใจ โดยเชื้อในละอองน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยในอากาศ ถ่ายทอดไปยังผู้ที่อยู่ใกล้ๆ ระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อคือ 7 วันก่อนออกผื่น จนถึง 5 วันหลังผื่นขึ้น ในมารดาจะไม่มีอันตรายจากหัดเยอรมัน แต่ทารกในครรภ์ที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันอาจจะเกิดความผิดปกติได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เมื่อติดเชื้อ ถ้าอยู่ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะพบความพิการที่เห็นได้ชัดคือ ตาเป็นต้อกระจกหรือต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด เด็กตัวเล็กกว่าปกติ เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติทำให้เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนัง ตับ ม้ามโต และมีความผิดปกติทางสมอง หรือทารกในครรภ์เสียชีวิตเพราะติดเชื้อ
การป้องกัน
การฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน คือการป้องกันที่ดีที่สุด และควรฉีดตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาวที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมัน แต่ในขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถฉีดได้ ทำให้ในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นหัดเยอรมัน หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความแออัด ถ้าจะฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ควรฉีดก่อนการตั้งครรภ์ 3 เดือน ในระหว่างตั้งครรภ์หากพิสูจน์ได้แน่ว่าติดหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก แพทย์มักจะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ เพราะโอกาสที่เด็กจะพิการมีถึง 50-90 % ดังนั้น สตรีมีครรภ์เมื่อป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง
ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์
ความจริงแล้วตกขาวเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยลักษณะของตกขาวปกติจะเป็นมูกใสหรือขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก ปริมาณไม่มากนัก อาจมีทุกวัน วันละเล็กน้อย เรื่องของลักษณะและปริมาณของตกขาวนั้นขึ้นกับอิทธิพลของฮอร์โมนในร่างกายด้วย
สาเหตุของการเกิดตกขาวระหว่างตั้งครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์ ปากมดลูกและผนังช่องคลอดนั้นจะนุ่มขึ้น และผลิตตกขาวออกมามากขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่มดลูก ตกขาวจะช่วยปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัย ในช่วงสัปดาห์ท้ายก่อนคลอด หัวของทารกจะกดทับบริเวณปากมดลูก น้ำหนักกดทับทำให้มีตกขาวเพิ่มขึ้น ลักษณะเป็นมูกมากขึ้นและมีกลิ่นคล้ายกับเลือดปนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าใกล้เวลาคลอดแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวังการมีตกขาวที่ผิดปกติจากเชื้อโรคที่มาทำให้ช่องคลอดอักเสบติดเชื้อบางอย่างที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจภายในเพิ่มเติม และรับการรักษาเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนการตั้งครรภ์หากเป็นการอักเสบที่รุนแรง
ตกขาวแบบไหนผิดปกติสำหรับหญิงตั้งครรภ์
ตกขาวเป็นสีเทาหรือขาวเข้มเหมือนเมือกนม ปริมาณมาก หรือเป็นก้อน สีแตกต่างจากเดิม
มีอาการแสบร้อนในช่องคลอด
มีอาการคันที่รุนแรงในช่องคลอด
มีกลิ่นที่รุนแรงมากผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้สึกว่ามีกลิ่นอับคล้ายกลิ่นคาวปลา
อาการต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่พบได้หากคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดการอักเสบของช่องคลอดจากแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ แม้ช่วงตั้งครรภ์จะไม่ได้ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ แต่ควรระมัดระวัง และยังคงต้องป้องกันเชื้อโรคเวลามีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสการอักเสบติดเชื้อในช่องคลอด ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กครรภ์ได้ โดยวิธีการป้องกันที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การใช้ถุงยางอนามัย ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด แนะนำให้ล้างทำความสะอาดภายนอกด้วยน้ำเปล่า ซับให้แห้ง ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่อบ อับ ชื้น
โรคขี้แมว
โรคติดเชื้อจากปรสิตที่มีชื่อว่า Toxoplasma gondii โดยเชื้อดังกล่าวสามารถพบได้ในมูลของแมว เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ แม้ปกติมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด และเชื้อยังสามารถแพร่จากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกได้น้อย แต่ในบางรายที่รุนแรงมักส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือเกิดการแท้งบุตร สำหรับทารกที่รอดชีวิตมีแนวโน้มจะพบปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมา เช่น ชัก ตับโต ม้ามโต ดีซ่าน หรือติดเชื้อที่ดวงตาจนตาบอดได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อนี้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่ทารกได้มากที่สุด แต่มักพบอาการผิดปกติได้น้อย และเด็กอาจพัฒนาอาการได้เมื่อโตขึ้น
การป้องกัน
สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงช่วงระหว่างตั้งครรภ์ หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยทั้งของตนเอง และจัดสภาพแวดล้อมให้สะอาด เช่น การใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัยหากต้องสัมผัสกับสัตว์ ดูแลรักษาความสะอาดของใช้ และบริเวณรอบบ้านให้สะอาดปลอดเชื้อ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างมือหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง
1.การฉีดวัคซีนป้องกันให้มีภูมิคุ้มกันก่อนตั้งครรภ์ เช่น หัด หัดเยอรมัน สุกใส เป็นต้น
2.ถ้าตรวจเลือดพบว่ามีการติดเชื้อบางชนิด (หรือมีอาการของโรค) ควรรักษาให้เรียบร้อยก่อนตั้งครรภ์
3.ลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อที่ก่อโรค เช่น การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ แม้ว่าจะไม่ใช่เพื่อการคุมกำเนิดแต่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ฉีดวัคซีน4.ป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงให้ครบ ดูแลสุขอนามัย เป็นต้น
เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai