ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม เหมือนหรือต่าง อย่างไร?


ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม เหมือนหรือต่าง อย่างไร?

ภาวะออทิสติกเกิดจากความผิดปกติของสมอง มากกว่าเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เด็กเกิดพัฒนาการล่าช้า ไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคมและภาษาได้เหมาะสมตามวัย สังเกตได้ก่อนเด็กอายุ 2 ขวบ ซึ่งจะชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปีเป็นต้นไป

ออทิสติกเทียม ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสมอง แต่เกิดจากการเลี้ยงดูเป็นหลัก

หากสงสัยว่าลูกเป็นออทิสติกแท้หรือออทิสติกเทียม แนะนำให้พาบุตรหลานเข้ารับการตรวจเช็กพัฒนาการกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยอาการให้ถูกต้องชัดเจน ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะช่วง 5 ปีแรกของเด็ก เป็นช่วงวัยที่สมองมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ หากไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขที่ถูกต้องอาจทำให้เด็กผิดปกติไปในระยะยาว แก้ไขไม่ได้

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้าน เทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าในโลกปัจจุบัน ทำให้การเลี้ยงดูลูกด้วยการปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ หรือเล่นอุปกรณ์สื่อสาร อย่างแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน มากเกินไป ส่งผลให้เด็กใช้ชีวิตกับการสื่อสารทางเดียว (One-way communication) ขาดการกระตุ้นในการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way communication) ไม่มีการพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จนเด็กเกิดความล่าช้าทางการสื่อสารและมีพัฒนาการทางสังคมไม่ปกติ

และในที่สุดจึงพบว่า ลูกไม่พูด พูดช้า หรือพูดภาษาการ์ตูน รวมถึงเล่นกับเด็กคนอื่นไม่เป็น ไม่ตอบโต้สบตาเวลาพูดคุย ไม่มีความสนใจร่วมกับผู้อื่น ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ อาจรุนแรงถึงขั้นแสดงออกด้วยการโวยวาย และอาละวาด ซึ่งหลายอาการแสดงออกเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเด็กในกลุ่มออทิสติก จนเกิดคำถามขึ้นในใจคุณพ่อคุณแม่ว่า ลูกเป็น "ออทิสติกแท้" หรือ "ออทิสติกเทียม"

ออทิสติกแท้ (Autism Spectrum Disorder) คืออะไร
ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของสมอง ส่งผลให้เด็กเกิดพัฒนาการล่าช้า ไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคมและภาษาได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งลักษณะเฉพาะจะแสดงให้เห็นก่อนอายุ 3 ขวบ

แม้ปัจจุบันจะยังหาสาเหตุความผิดปกติที่ชัดเจนไม่ได้ แต่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่าเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติมากกว่าเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยการแพทย์ที่ก้าวหน้าและทันสมัย สามารถช่วยให้เด็กกลุ่มออทิสติกสามารถพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้นมาก โดยเฉพาะหากได้รับการวินิจฉัยให้การดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมได้ทันท่วงทีตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุของออทิสติกแท้
ทุกประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่เด็กจะเกิดมาพร้อมภาวะออทิสติก โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่ได้มีการระบุถึงปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคไว้ ดังนี้

ปัจจัยทางพันธุกรรม (Genetics) เด็กออทิสติกประมาณ 10-20% พบความผิดปกติที่ส่วนจำเพาะของโครโมโซม หรือยีน ซึ่งตรงกับโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการโครโมโซมเอ็กซ์เปราะ (Fragile X syndrome) หรือเร็ทท์ ซินโดรม (Rett syndrome) นอกจากนี้ ยังพบอัตราการเป็นออทิสติกที่สูงขึ้นในพี่น้องฝาแฝด หรือพี่น้องที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก และพบว่าพ่อแม่ที่อายุมากมีความเสี่ยงสูงที่จะมีลูกเป็นออทิสติก

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) ภาวะแทรกซ้อน หรือการใช้ยาบางชนิดของมารดาขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่อทารกในครรภ์ให้เกิดมาพร้อมภาวะออทิสติก นอกจากนี้การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก รวมถึงมลพิษทางอากาศ PM 2.5 อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดออทิสติกได้
สังเกตอาการออทิสติกแท้

ภาวะออทิสติก จะแสดงอาการแตกต่างกันไปในรายละเอียดของความบกพร่องและระดับความรุนแรง รวมถึงการเป็นโรคอื่นร่วมด้วย โดยสามารถสังเกตอาการผิดปกติของออทิสติกได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ซึ่งจะชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ขวบ เป็นต้นไป โดยอาการแสดงออกที่สังเกตได้ มีดังนี้

ด้านสังคม อยู่แต่ในโลกของตัวเอง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เรียกไม่หัน ไม่สบตา
ด้านภาษา เริ่มพูดช้า หรือยังไม่พูดเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม พูดซ้ำๆ พูดวนไปวนมา พูดทวนคำ ไม่สามารถสนทนาได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านพฤติกรรม ทำอะไรซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น รับประทานอาหารซ้ำเดิมไม่ยอมเปลี่ยน หากกิจวัตรที่เคยทำเปลี่ยนไปจากเดิม จะแสดงออกให้เห็นว่า อารมณ์เสีย หงุดหงิด โวยวาย นอกจากนี้สังเกตได้จากการชอบหมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า สะบัดมือ เล่นมือ เล่นเสียง

ในเด็กที่เป็นออทิสติก จะพบว่าเป็นเด็กไฮเปอร์แอ็กทีฟประมาณ 70% และพบมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย 50-70% ขณะเดียวกันก็พบว่าเด็กออทิสติกจะมีความสามารถพิเศษด้านอื่นๆ อยู่ 10%

การรักษาออทิสติกแท้
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาภาวะออทิสติกโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคอง ดังนี้

ให้ยาตามอาการ เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมและอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งการตอบสนองต่อยาในเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

การรักษาแบบองค์รวม การรักษานี้มีเป้าหมายให้เด็กมีพัฒนาการด้านการสื่อสารและเข้าสังคมได้ดีขึ้น ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และพัฒนาศักยภาพในตัวเด็กให้ได้มากที่สุด โดยช่วงเวลาของการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ ช่วง 3 ขวบปีแรก

การรักษาโรคร่วมที่เป็นอยู่ เช่น สมาธิสั้น สติปัญญาบกพร่อง หรืออารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง

ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม เหมือนหรือต่าง อย่างไร?

ออทิสติกเทียม (Virtual autism) คือ ภาวะที่เด็กมีอาการคล้ายออทิสติกแต่ไม่ได้เป็นโรคจริง เด็กกลุ่มออทิสติกเทียมเกิดจากการขาดการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่มีการกระตุ้นพัฒนาการ ขาดการเรียนรู้ การเล่นที่สมวัย ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด ที่ต้องแยกตัวจากเพื่อนและเรียนออนไลน์ อย่างไรก็ตาม หากเด็กกลุ่มที่มีภาวะออทิสติกเทียมได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม อาการที่สงสัยดูคล้ายภาวะออทิสติกจะสามารถหายไปได้

สาเหตุของออทิสติกเทียม
อย่างที่กล่าวมา สาเหตุหลักของออทิสติกเทียมไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม หรือจากความผิดปกติของสมอง แต่เกิดมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่มีการกระตุ้นพัฒนาการ จึงทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า ไม่สมวัย ดังนี้

ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงลูก เช่น โทรทัศน์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลา หรือต้องการให้ลูกอยู่นิ่งๆ ลูกจึงได้รับการสื่อสารทางเดียว เล่นคนเดียว ไม่มีโอกาสได้เล่นกับเพื่อน หรือฝึกเข้าสังคมอย่างเหมาะสมตามวัย

คุณพ่อคุณแม่ตามใจ ไม่มีการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเอง

คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นห่วงลูกมากเกินไป สั่งห้ามไม่ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ จนเด็กกลัว ไม่กล้าที่จะแสดงออก หรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ ไม่ค่อยสื่อสารพูดคุยหรือเล่นกับลูก

คุณพ่อคุณแม่ ที่ไม่ให้ลูกออกไปเล่นนอกบ้าน อาจทำให้ลูกไม่มีเพื่อน และไม่รู้จักการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมในสังคม

เครดิตแหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์