ตาเข ตาเหล่ หายเองไม่ได้ ต้องได้รับการรักษา
ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) คือ สภาวะที่ลูกตาทั้ง 2 ข้างไม่ขนานกันและทำงานไม่ประสานกันในขณะที่มองวัตถุชิ้นเดียวกัน โดยผู้ป่วยจะใช้เพียงตาข้างที่ปกติจ้องวัตถุ ส่วนข้างที่เหล่ อาจเบนเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นบนหรือลงล่าง ทำให้ตาข้างนั้นไม่ถูกใช้งาน
ในขณะที่ ตาเหล่เทียม (Pseudostrabismus) มักพบในเด็กที่บริเวณสันจมูกยังโตไม่เต็มที่ และบริเวณหัวตากว้าง (Epicanthus) จึงแลดูคล้ายภาวะตาเหล่เข้าใน แต่เมื่อเด็กโตขึ้นดั้งจมูกสูงขึ้น ภาวะตาเหล่นี้ก็จะหายไป
ตาเหล่ ตาเข เกิดขึ้นได้อย่างไร?
-เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่าเป็นความผิดปกติในการบาลานซ์ระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง
-เกิดจากสมองสั่งการกล้ามเนื้อตาผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานไม่สมดุลกัน
-เกิดจากการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อตาผิดปกติ
-เป็นผลจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต หรือทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดตาเขได้
-การมองเห็นผิดปกติ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในเด็ก อาจเกิดจากดวงตาข้างนั้นมีภาวะผิดปกติจากโรคบางอย่าง เช่น มะเร็งจอตา ทำให้ตาข้างนั้นมองไม่เห็น ส่งผลให้มีการใช้ตาข้างที่มองไม่เห็นน้อย จึงทำให้ตาข้างนั้นเข
-ตาเขจากภาวะเพ่ง โดยทั่วไปเด็กจะเพ่งเก่งกว่าผู้ใหญ่ แต่เด็กบางคนเพ่งได้มากกว่าปกติ รวมถึงเด็กที่ใช้สายตามากผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเขได้
ผลกระทบที่เกิดจากภาวะตาเข
ไม่เพียงสูญเสียความมั่นใจ แต่ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพ หากเป็นในเด็ก ถ้าถึงวัยเข้าโรงเรียนอาจโดนเพื่อนล้อ ทำให้เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน เสียสุขภาพจิต เก็บตัว ไม่มั่นใจ ไปจนถึงส่งผลต่อการเข้าสังคมและการเรียนได้
ส่วนในผู้ใหญ่ ความผิดปกติของดวงตาเป็นจุดที่สังเกตได้ชัดเจนมากกว่าส่วนอื่น ผู้ที่มีภาวะตาเขบางคนพยายามนำผมลงมาปิดตาข้างนั้น ใช้ชีวิตเหมือนปิดบังอะไรบางอย่าง สูญเสียความมั่นใจ ไม่อยากเข้าสังคม เป็นปมด้อย ส่งผลต่อบุคลิกภาพ อีกทั้งทำให้เสียโอกาสในเรื่องอาชีพและการดำเนินชีวิตหลายอย่าง ยิ่งหากเป็นตาเขแบบมีความผิดปกติในการมองเห็นด้วยแล้ว ยิ่งทำให้แทบจะใช้ชีวิตเป็นปกติสุขไม่ได้ เพราะฉะนั้น การผ่าตัดเพื่อแก้ไขตาเขจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ตาเขในเด็ก จำเป็นต้องรักษาหรือไม่?
เป้าหมายของการรักษาตาเขในเด็ก เพื่อกำจัดตาขี้เกียจ เพราะตาขี้เกียจนำมาซึ่งตาบอดได้ ทั้งนี้เพราะในดวงตาของเด็กที่กำลังพัฒนา หากเกิดตาเข จะส่งผลให้การใช้งานตาข้างนั้นน้อยลงจนเกิดภาวะตาขี้เกียจ คือทำให้ตาข้างนั้นด้อยพัฒนา หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจส่งผลให้ตาข้างนั้นบอดได้ เพราะฉะนั้นเด็กที่ตาเขควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะไม่เพียงส่งผลต่อบุคลิกภาพ แต่หมายถึงอาจทำให้เด็กสูญเสียการมองเห็นและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต
รู้ได้อย่างไร? ว่าลูกมีภาวะตาเข
สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เด็กอายุ 5 เดือนขึ้นไป หากลูกมองหน้าแม่แล้วทำตาแปลกๆ ตาดูเข ให้สงสัยไว้ก่อนและพามาพบแพทย์ เพราะช่วงวัยนี้สามารถตรวจได้แล้วว่ามีภาวะตาเขจริงหรือไม่
การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
-การสวมแว่นสายตา ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตายาวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเขเข้า หรือ สายตาสั้นที่เป็นสาเหตุร่วมทำให้มีตาเขออกนอกบางครั้ง
-สวมแว่น prism ซึ่งช่วยหักเหแสงให้ตกลงพอดีที่จุดรับภาพที่จอตา
-การฝึกกล้ามเนื้อตา
-การรักษาด้วยยา เช่น การฉีดโบท็อกช์ (Botulinum Toxin) โดยฉีดที่กล้ามเนื้อตา ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นอ่อนแรง มีฤทธิ์อยู่นานประมาณ 2-3 เดือน
หากลูกตาเขร่วมกับภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ต้องทำอย่างไร?
ในเด็กตาเขที่มีภาวะตาขี้เกียจ จำเป็นต้องรีบให้การรักษาทันที และต้องรักษาก่อนที่จะผ่าตัดแก้ไขตาเข และควรรักษาช่วงก่อนที่เด็กจะอายุมากกว่า 7 ปี ซึ่งเมื่อเด็กอายุมากกว่า 8-9 ปีขึ้นไปมักรักษาได้ผลช้า ตาข้างนั้นก็จะมัวอย่างถาวร
การรักษาตาขี้เกียจทำโดยการปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจได้ใช้งาน ควรปิดตาอย่างน้อยวันละ 2-6 ชั่วโมง จนกว่าสายตาทั้งสองข้างจะมองเห็นปกติ ทั้งนี้แต่ละรายอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน
การรักษาโดยการผ่าตัดแก้ไขตาเข
การผ่าตัดแก้ไขตาเข เป็นการผ่าตัดเล็ก เรียกว่า Muscle correction คือ การเข้าไปจัดกล้ามเนื้อตา ตั้งศูนย์กล้ามเนื้อตาใหม่ให้เป็นปกติ ซึ่งมีหลายเทคนิค โดยจะเลือกใช้เทคนิคใดนั้นแพทย์จะพิจารณาจากลักษณะตาเข การผ่าตัดแก้ไขตาเขไม่ยุ่งยาก เป็นการผ่าตัดนอกลูกตา โดยในผู้ใหญ่ใช้แค่ยาชาก็สามารถทำผ่าตัดได้ สำหรับเด็กสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบขึ้นไป ซึ่งวิธีการอาจแตกต่างจากผู้ใหญ่บ้างในส่วนที่ต้องใช้ยาสลบ แต่ให้ผลลัพธ์ดี ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
อาการข้างเคียงหลังผ่าตัด
สายตาหรือการมองจะกลับมาตรงทันที โดยอาจมีตาแดงเล็กน้อย และพักฟื้นดวงตาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าดีกว่าเดิม เพราะเหมือนได้ชีวิตใหม่ เป็นคนใหม่
การดูแลตนเองหลังการผ่าตัด
แพทย์จะปิดตาข้างที่ผ่าไว้ 1 วัน จากนั้นจึงเปิดใช้สายตาได้ตามปกติ สำหรับเด็กเล็กเวลานอนจะใช้ที่ครอบตาปิดเพื่อกันเด็กขยี้ตา ในช่วงสัปดาห์แรกควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ การผ่าตัดแทบจะไม่เห็นแผลเป็นหรือร่องรอยเลย หลังผ่าตัดต้องมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อดูอาการว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ประโยชน์ที่ได้หลังเข้ารับการรักษา
-ทำให้ตาดูตรงเป็นปกติ สวยงาม มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น
-รักษาเพื่อการมองเห็นทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นของตาทั้ง 2 ข้างดีขึ้น สามารถมองเห็นภาพเป็น 3 มิติได้ดีขึ้นเป็นปกติ
หลายคนเข้าใจว่าโรคตาเขหรือตาเหล่ในเด็กสามารถหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่ความจริงแล้วไม่สามารถหายได้เอง การที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในระยะเวลาที่เหมาะสม อาจส่งผลให้เสียประสิทธิภาพในการมองเห็นได้อย่างถาวร และโรคตาเขหรือตาเหล่ยังทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมในการมองเห็นของบุตรหลานหรือพาไปตรวจเช็กสายตากับจักษุแพทย์ก่อนวัยเข้าเรียน เพื่อช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้ลุกลาม เพราะหากพบเร็วสามารถรักษาให้หายได้ดีกว่ามาก
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น