เพราะความสุขของลูก คือความสุขของพ่อแม่
การเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จหรือเป็นไปดั่งใจหมายนั้นใช่เรื่องง่าย พ่อแม่หลายคนอาจทำเรื่องผิดพลาดในการเลี้ยงดูลูก ทั้งอาจเกิดจากความเครียด จากความไม่มั่นใจในวิธีการเลี้ยงดู รวมถึงความคาดหวังต่างๆ ทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง แต่เราเชื่อว่าในทุกครอบครัวจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือการมีความรักและความปรารถนาดีที่อยากให้ลูกเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และอยู่รอดในสังคม จนบางครั้งอาจทำให้หลงลืมถึงความสุขที่ควรจะเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในชีวิตและการเป็นครอบครัว เป็นรากฐานของการเป็นคนเก่ง และช่วยให้ลูกสามารถเอาตัวรอดได้ในอนาคต
รากฐานความสุขของเด็กๆ
The pyramid of happiness หรือพีระมิดของความสุข มีรากฐานสำคัญคือความรัก ความปลอดภัย และความสนุกสนาน เมื่อเด็กๆ มีสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นฐานที่ดี ที่ทำให้เด็กๆ มีสุขภาพและสมองที่แข็งแรง มีประสาทสัมผัสที่พร้อมรับการเรียนรู้ การฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่สำคัญนอกจากการเรียนหนังสือ เช่น
-การรู้จักช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานของความรับผิดชอบ
-การจัดการอารมณ์ ทักษะทางสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
-การได้ทำในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความอดทน
-การควบคุมตนเองให้อยู่ในกฏของบ้าน เพื่อให้เกิดการยับยั้งชั่งใจ
-และที่สำคัญการมีความคิดสร้างสรรค์และการจัดการปัญหา
เมื่อเด็กมีรากฐานเหล่านี้ที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง มั่นใจว่าตัวเองจะแก้ไขและจัดการปัญหาต่างๆ ได้ เมื่อนั้นความสุขก็จะเกิดขึ้น
ความสนุกสนานก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อเด็กเกิดอารมณ์สนุก สมองจะมีการตื่นตัว มีการเปิดรับ ทำให้ร่างกายอยู่กับสิ่งนั้นๆ ได้ดีขึ้น ในทางกลับกันถ้าเด็กอยู่ในสภาวะกลัว กังวล หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความรู้สึกเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสมองในการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นช้าลง และต้องเสียสมองส่วนหนึ่งไปกับการคิดเอาตัวรอดหรือกังวลเรื่องนั้นๆ เด็กๆ ก็อาจจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ดีนัก
แนวทางสู่ความสำเร็จ
สิ่งสำคัญที่เด็กๆ ต้องทำเมื่ออยู่ในวัยเรียน (อายุ 6 ปีขึ้นไป) ก็คือการเรียนให้ได้ผลดี ซึ่งเคล็ดลับหรือแนวทางที่จะทำให้ประสบความสําเร็จในการเรียนไปจนถึงในเรื่องงานเมื่อพวกเขาโตขึ้น นั่นก็คือ หลักอิทธิบาท 4 หรือหนทางแห่งความสำเร็จตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วย
1.ฉันทะ คือความพอใจ รักใคร่ในสิ่งนั้น
2.วิริยะ คือความพากเพียรในสิ่งนั้น
3.จิตตะ คือความเอาใจใส่ ฝักใฝ่ รับผิดชอบในสิ่งนั้น
4.วิมังสา คือความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าเรารักเราชอบ มีความพยายาม แต่ขาดการไตร่ตรองว่าวิธีที่เราทำมันได้ผลไหม โอกาสที่ทำแล้วเสียเปล่าก็มีได้มาก ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ลึกลงไป หลักทางพุทธศาสนาก็สอดคล้องกับ pyramid of happiness หรือพีระมิดแห่งความสุข
เด็กรู้หน้าที่ย่อมเติบโตไปในทุกทาง
เมื่อเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนก็จะต้องมีการบ้านที่ครูมอบหมายให้ทำ โดยมีจุดประสงค์เพื่อฝึกทักษะ ความรับผิดชอบ การบริหารเวลา และทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเรียนออนไลน์ เด็กๆ ก็จะได้รับงานส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งย่อมจะสร้างความเครียดให้กับทั้งเด็กและผู้ปกครอง คุณหมอมีคำแนะนำที่จะช่วยลดความเครียดในจุดนี้ลงได้ โดยให้พ่อแม่ต้องยึดหลักว่า "อย่าไปแย่งงานของคนอื่น" โดยให้คิดดังนี้
1.การบ้าน คือ "งานของลูก" ไม่ใช่งานของพ่อแม่ ลูกต้องเป็นคนทำ เพื่อทบทวน ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกความอดทนเมื่อเจองานยาก และฝึกการแก้ปัญหา การทำไม่ได้หรือไม่เข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการทำถูกหรือทำผิด
2.ไม่มีงานที่เพอร์เฟกต์ คือไม่จำเป็นต้องตรวจการบ้านลูกว่าถูกหรือผิด เพราะนั่นเป็นหน้าที่ เป็น "งานของครู" ถ้าเราแก้การบ้านให้ลูก จนลูกทำถูกหมด ครูจะไม่รู้เลยว่าลูกทำไม่ได้ข้อไหน หรือไม่เข้าใจตรงไหนบ้าง
3.งานหรือหน้าที่ของพ่อแม่มีสองอย่างคือ
-การช่วยสอดส่องดูว่าลูกได้ทำการบ้านตามที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ และ
-การฝึกทักษะอื่นๆ ให้ลูกมี ก่อนที่จะไปโรงเรียนและทั้งขณะที่ไปเรียนแล้ว คือ สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น มีความอดทนพยายาม ความรับผิดชอบ สมาธิ การแก้ปัญหา การผ่อนคลายเมื่อมีความเครียด นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องไม่ลืมที่จะเสริมสร้างให้กับลูก เพื่อให้ลูกสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข
ขอแถมด้วยเรื่องการติวข้อสอบให้ลูก คุณหมอยังเจอหลายๆ บ้านที่ช่วยลูกอยู่ ก็อยากให้ยึดหลักเช่นเดียวกันว่า "ไม่ใช่งานของเรา" และ "การสอบไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมาก" การสอบเป็นเพียงการประเมินว่าลูกสามารถเรียนรู้ได้เข้าใจ สามารถนำไปใช้ได้แค่ไหน ซึ่งถ้าเราไปแย่งงานของลูก ลูกจะขาดโอกาสในการฝึกการคิดวิเคราะห์ การจัดตารางเวลาของตนเอง การวางแผน การสรุปสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งทักษะนี้จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เยอะ ใช้แยกแยะว่าอะไรสำคัญ ไม่สำคัญ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้
การที่พ่อแม่ใจจดจ่อกับผลสอบของลูกมาก ลูกก็จะเกิดความเครียด และจะมองแต่ผล มากกว่ามองว่าที่ผ่านมาเขามีความตั้งใจ และได้พยายามมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าผลสอบเสียอีก อยากให้พ่อแม่ลองนึกดูว่า เรายังจำผลสอบสมัยเราเป็นเด็กได้ไหม ซึ่งมาถึงตอนนี้มันก็ไม่ได้สำคัญเลยว่าตอนนั้นจะได้คะแนนมากน้อยเท่าไหร่ จริงไหม?เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai