เมื่อลูกรักเอาแต่ใจ พ่อแม่รับมืออย่างไรนะ
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักกังวลในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ก็คือการควบคุมพฤติกรรมของลูกว่าจะตามใจลูกมากน้อยแค่ไหนดี สิ่งใดที่ควรห้ามปราม หรือสถานการณ์ใดที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด แล้วถ้าลูกเอาแต่ในจะมีวิธีลดพฤติกรรมนั้นได้อย่างไร วันนี้คุณหมอมีคำแนะนำดีๆ มาฝากกัน
จะรับมือกับลูกเอาแต่ใจได้ยังไงนะ
-พ่อแม่ควรสังเกตว่าพฤติกรรมการเอาแต่ใจของลูกมักเกิดในสถานการณ์แบบใดบ้าง และอะไรคือสิ่งเร้าหรือกระตุ้นให้ลูกมีพฤติกรรมแบบนั้น
-เมื่อพ่อแม่ทราบแล้วว่าลูกมีพฤติกรรมเอาแต่ใจในสถานการณ์ใด ควรหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับสถานการณ์นั้นๆ เช่น เมื่อเด็กอยากได้ของเล่นในห้างสรรพสินค้า แต่พ่อแม่ไม่ให้ซื้อ จึงลงไปนอนร้องดิ้นกับพื้น แบบนี้พ่อแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินผ่านบริเวณที่ขายของเล่น เป็นต้น
-ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเด็กแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจในขณะนั้น อาจเบี่ยงเบนความสนใจ หรืออาจพูดแสดงความเข้าใจ และให้เวลาลูกในการควบคุมอารมณ์ เช่น "แม่รู้ว่าลูกเสียใจมาก หนูเลยร้องไห้และดิ้นกับพื้นแบบนี้ ยังไงแม่จะอยู่ข้างๆ หนูนะ เดี๋ยวหนูหยุดร้องไห้แล้วเราค่อยมาคุยกัน" แต่หากอยู่ในบริเวณที่อันตรายและอาจมีของตกหล่นมาใส่เด็ก พ่อแม่อาจกอดลูกเอาไว้สักพักจนกว่าลูกจะสงบ
-เมื่อพ่อแม่ตอบสนองต่ออาการเอาแต่ใจของเด็กอย่างเหมาะสม เด็กก็จะเรียนรู้ว่า ถ้าเอาแต่ใจ ก็จะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ พฤติกรรมเอาแต่ใจก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ และค่อยๆหายไป
-เมื่อลูกสงบลงแล้ว พ่อแม่ควรคุยกับลูกด้วยเหตุผลที่เข้าใจง่าย อาจกำหนดกฎ กติกาเพิ่มเติม เช่น หากเราออกไปข้างนอกแล้วหนูร้องดิ้นแบบนี้ พ่อแม่อาจจะพาหนูกลับบ้านทันที หรืออาจโดนตัดสิทธิ์อย่างอื่น เป็นต้น
หากพ่อแม่ไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมเอาแต่ใจของลูก หรือลูกมีพฤติกรรมเอาแต่ใจที่รุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไปเครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai