เด็กติดเกม ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญ

เด็กติดเกม ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญ


ปัจจุบันโรคติดเกม (Gaming Disorder) ได้ลุกลามจนเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก จนล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเสพติด โดยในทางสมองจะมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด จนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการด้านต่างๆ และพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไป

สาเหตุอะไรที่ทำให้เด็กเป็นโรคติดเกม
-กรรมพันธุ์
-อารมณ์ของเด็กที่ต้องการสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ
-โรคทางจิตเวชเด็ก คือ โรคสมาธิสั้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้สมองของเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงแรกเมื่อเด็กเริ่มเล่นเกมโดยเฉพาะเกมที่ตอบสนองรุนแรงและรวดเร็วจะทำให้สมองหลั่งสารเคมีแห่งความสุขออกมาและร่างกายก็จะตอบสนองโดยการเล่นเกมมากขึ้น ต่อมาสมองจึงเลือกที่จะจับ ต่อตัวกระตุ้นที่คุ้นเคย และลดการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นเดิมๆ ทำให้เราเห็นว่าเด็กติดเกมจะไม่รู้สึกสนุกต่อสิ่งต่างๆ ยกเว้นเกมเท่านั้น และก็ยิ่งเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นวงจรตอบสนองที่ไม่สิ้นสุดนั่นเอง

การรักษาโรคติดเกม ต้องทำอย่างไร
การรักษาต้องอาศัยความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก โดยมีแพทย์เป็นที่ปรึกษาร่วมกับการให้ยา ในบางรายการจะเริ่มรักษาได้ก็ต้องอยู่ที่เด็กและผู้ปกครองมีความตระหนักเห็นความสำคัญของปัญหาร่วมกันก่อน ต่อมาจึงมีการวางแผนในการค่อยๆ หยุดเล่นเกม พ่อแม่และเด็กต้องทำตารางร่วมกันว่าจะให้เล่นเกมเวลาใดบ้าง มีเกมอะไรบ้างที่สามารถเล่นได้ และที่สำคัญคือเด็กควรอยู่ในสายตาของพ่อแม่ตลอดเวลาที่เล่นเกม

ในส่วนของยาจะมีความจำเป็นในกรณีที่เด็กมีโรคทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น หรือโรคซึมเศร้า แพทย์จะวางแผนในการใช้ยาอย่างรอบคอบ และค่อยๆ หยุดยาเมื่ออาการดีขึ้น

การป้องกันปัญหาเด็กติดเกมควรเริ่มจาก
-ความเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่สามารถ ห้าม เด็กไม่ให้เล่นเกมได้
-พ่อแม่ต้องรู้จักเกมของลูก และเล่นเกมกับลูกบ้าง
-ควรเสริมกิจกรรมที่เด็กชื่นชอบ เช่น กีฬา ศิลปะ หรือดนตรี ในกิจกรรมของครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

3 ต้อง 3 ไม่ ช่วยให้เด็กไม่ติดเกม

3 ต้อง
1.ต้องควบคุมเวลาให้เล่นเกมอย่างเหมาะสม
2.ต้องเลือกเกมที่ไม่มีความรุนแรง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะทางความคิด
3.ต้องเล่นด้วย พ่อแม่และผู้ปกครองควรแบ่งเวลาเล่นเกมกับลูก เพื่อให้ทราบว่าลูกกำลังเล่นเกมอะไรอยู่

3 ไม่

1.ไม่เล่นในห้องนอน เพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัว อาจกระทบกับการใช้ชีวิตและอดหลับอดนอน
2.ไม่เล่นตอนทำกิจกรรมในครอบครัว เช่น เล่นตอนรับประทานอาหารร่วมกัน
3.ไม่เป็นแบบอย่าง พ่อแม่และผู้ปกครองไม่ควรเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เช่น การเล่นเฟสบุ๊ค หรือเล่นอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์ตลอดเวลา

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเด็กติดเกมให้ดีขึ้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนและปรับกันทั้งเด็กและพ่อแม่ รวมถึงคนรอบข้างทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ปัญหาต่างๆ น่าจะเริ่มต้นแก้ไขด้วยความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราที่อยู่ด้วยกัน

โดยเฉพาะในการที่พ่อแม่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกมของลูกๆ หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกติดเกมหรือไม่ หรือถึงขนาดต้องเข้ารับการรักษาหรือเปล่า สามารถเข้ามาพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อรับคำปรึกษา หาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกต้องเมื่อจำเป็น

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์