ลูกน้อยขาโก่งอย่าชะล่าใจ อาจโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์

ลูกน้อยขาโก่งอย่าชะล่าใจ อาจโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์


   ขาโก่ง อาจฟังดูเป็นภาวะที่ไม่ได้อันตรายร้ายแรงอะไร และคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่เดี๋ยวไม่นานเมื่อกระดูกเจ้าตัวเล็กเติบโตตามวัย ก็จะกลับเข้าที่เข้าทางเองได้ ซึ่งก็ถือว่าไม่ผิด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีภาวะขาโก่งที่เกิดจากสาเหตุอื่นหรือจากโรคทางกระดูกที่ผิดปกติ ซึ่งหากปล่อยไว้ ไม่ได้วินิจฉัยและทำการรักษา ก็จะส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและสรีระ ของลูกเมื่อโตขึ้นได้ ดังนั้น การทำความรู้จักกับ "ภาวะขาโก่ง" ให้เข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ลูกเล็กทุกคนไม่ควรละเลย

ขาโก่งคืออะไร เป็นโรคหรือไม่ หรือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ

ขาโก่ง นับเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยคุณพ่อคุณแม่มักจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ช่วงเข่าทั้ง 2 ข้างของลูกมีลักษณะโค้งแยกออกจากกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเด็กแรกเกิดทุกคนจะมีอาการ "ขาโก่ง" ก่อนเสมอ เพราะเป็นตามธรรมชาติแรกเริ่ม จนเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ ขาที่เคยโก่งจะค่อยๆ กลับตรงได้เองโดยไม่ต้องดัด และประมาณ 3 ขวบจะเริ่มฉิ่งออกหรือเกออกมาก จนถึงประมาณ 7 ขวบจึงกลับมาตรงเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นไปอย่างปกติตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีภาวะ "ขาโก่ง" บางกรณีที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นโรค มีสาเหตุมาจากความผิดปกติ ซึ่งจำเป็นจะต้องสังเกตให้ดี และเข้ารับการตรวจรักษา เพื่อไม่ให้ขาของลูกเติบโตไปแบบผิดปกติ โดยหนึ่งในภาวะขาโก่งที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาตินั้นได้แก่ โรคเบล้าท์ หรือ Blount's Disease

ขาโก่งแบบไหน จึงเข้าข่ายวินิจฉัยว่าเป็น Blount's Disease

Blount's Disease หรือ โรคเบล้าท์ เป็นหนึ่งในภาวะขาโก่งที่ไม่ใช่เรื่องปกติตามธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่จะพบในเด็กเล็กที่อ้วน มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เพราะเมื่อน้ำหนักตัวมากจึงไปกดทับบริเวณด้านในของเข่า ทำให้แผ่นเยื่อเจริญกระดูก หรือ Growth Plate เติบโตได้ไม่เต็มที่ และเกิดภาวะโก่งออกในที่สุด ซึ่งจุดสังเกตที่จะทราบได้ว่าภาวะขาโก่งที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นนั้นเป็นโรคเบล้าท์หรือไม่ ก็คือ เมื่อลูกอายุ 2 ขวบไปแล้ว ขายังโก่งไม่หาย โก่งมากขึ้น เพราะถ้าเป็นภาวะขาโก่งตามธรรมชาติ หลังจาก 2 ขวบแล้วขาที่เคยโก่งจะกลับมาตรงได้เอง ซึ่งหากสังเกตเห็นว่าไม่หาย ก็ต้องรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วน ทั้งนี้ นอกจากโรคเบล้าท์แล้ว ก็ยังมีความผิดปกติอื่นๆ อีกที่ทำให้ขาโก่งได้ อาทิ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิก เช่น การขาดวิตามินดี โดยหากเด็กๆ เป็นโรคนี้ จะไม่อ้วนเหมือนเด็กที่เป็นโรคเบล้าท์ แต่ว่าขาก็จะโก่งไม่หายเช่นกันแม้จะอายุเกิน 2 ขวบไปแล้ว ซึ่งจะทราบว่าเป็นภาวะขาโก่งจากการขาดวิตามินดีหรือไม่ก็ต้องทำการเอกซเรย์และเจาะเลือดตรวจถึงจะสามารถวินิจฉัยได้

อันตรายแค่ไหน ถ้าขาโก่งแล้วไม่รักษาหรือหาหมอช้าเกินไป

ในกรณีที่ลูกมีภาวะขาโก่งจากโรคเบล้าท์ แล้วไม่ได้เข้ามารับการรักษา ขาก็จะค่อยๆ โก่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแผ่นเยื่อเจริญกระดูก หรือ Growth Plate ข้างในไม่เติบโตเนื่องจากถูกกดทับ แต่กระดูกด้านนอกโตขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย ผลเสียที่ตามมาก็คือ จะทำให้ลูกเสียบุคลิกภาพ เดินขาโก่งมาก ขาดความมั่นใจในตัวเอง และอาจมีอาการปวดเมื่อยเข่าร่วมด้วยได้ เพราะเวลาเดินขาโก่งเอ็นข้อเข่าก็จะยืดย้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการขาโก่งของลูกน้อยให้ดี โดยหากพบว่าลูก 2 ขวบแล้วขายังไม่หายโก่ง และลูกมีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะมีโอกาสมากที่จะเป็นภาวะขาโก่งจากโรคเบล้าท์

รักษาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยว่าขาโก่งจากโรคเบล้าท์

แนวทางในการรักษาภาวะขาโก่งจากโรคเบล้าท์นั้น จะพิจารณาตามอาการของโรค โดยหากโก่งไม่มากและมาพบแพทย์เร็ว ก็จะรักษาด้วยการใส่อุปกรณ์ช่วยดัดขา ซึ่งต้องใส่ประมาณ 1-2 ปี โดยต้องใส่ตลอดเวลา แต่โดยมากเด็กๆ มักจะไม่ยอมใส่ จึงทำให้ส่วนใหญ่หากใส่ไปแล้วประมาณ 6 เดือน ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาผ่าตัดรักษา ซึ่งในการผ่าตัดนั้นก็จะพิจารณาจากระดับอาการความโก่งว่าเป็นมากหรือน้อยเช่นกัน หากเด็กมีภาวะโก่งน้อยก็รักษาด้วยการผ่าตัดจัดเรียงกระดูกให้ตรง แล้วใส่เฝือกประมาณ 1-2 เดือน กระดูกก็จะยึดติดกันสนิทแล้วกลับมาหายดีเป็นปกติได้ แต่ถ้าในรายที่มีภาวะโก่งมากๆ มารักษาตอนโตแล้ว แผ่นเจริญเยื่อกระดูกตายหมดแล้ว แพทย์จะต้องผ่าตัดแก้ไข นำแผ่นเยื่อเจริญกระดูกที่ตายแล้วออกเสียก่อน จึงทำให้กระบวนการในการผ่าตัดนั้นยากและซับซ้อนมากกว่า ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตอาการขาโก่งของลูกให้ดี หาก 2 ขวบแล้วยังไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะยิ่งรักษาช้าหรือมารักษาตอบโตล่ะก็ โอกาสที่ผลการรักษาจะออกมาดีเท่ากับการรักษาแบบในตอนเด็กๆ นั้นก็จะเป็นไปได้ยาก

ผ่าตัดรักษาขาโก่งจากโรคเบล้าท์ ลูกเราจะหายขาดหรือไม่

สำหรับการผ่าตัดรักษาภาวะขาโก่งจากโรคเบล้าท์ หากรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ตอนยังเด็ก และรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะมีโอกาสหายขาด และกลับมามีขาที่เป็นปกติได้ แต่ทั้งนี้ การจะกลับมาเป็นขาโก่งจากโรคเบล้าท์ซ้ำอีกหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับ "น้ำหนักตัวของเด็กด้วย" คือ ถ้าไม่ได้มีการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เมื่อกลับมามีน้ำหนักเกินอีก ก็มีโอกาสกลับมาขาโก่งซ้ำได้ ดังนั้น หลังการผ่าตัดรักษา แพทย์จึงต้องควบคุมดูแลพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไข้ด้วย ต้องได้รับการวางแผนและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโภชนาการโดยตรงเป็นรายบุคคลไป เพื่อแก้ไขสาเหตุหลักเรื่องน้ำหนักเกินที่จะมากดทับเยื่อเจริญกระดูก อันนำไปสู่การหายขาดจากภาวะขาโก่งอย่างแท้จริง

ภาวะขาโก่ง ถือเป็นภาวะที่มีทั้งเกิดขึ้นเองและหายเองได้ตามธรรมชาติ และภาวะความผิดปกติที่ต้องรักษา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องเข้าใจ และใส่ใจติดตามการเติบโตของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด โดยหากพบว่าลูกเกิดมาพร้อมอาการขาโก่ง ตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลไป เพราะถือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ แต่หากหลัง 2 ขวบไปแล้ว ลูกยังมีอาการขาโก่งอยู่ ยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการวินิจรักษาให้ทันท่วงที เพื่อให้ลูกน้อยของเราเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีบุคลิกภาพดี และมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องกังวลกับความผิดปกติกับขาของตัวเอง

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai

ลูกน้อยขาโก่งอย่าชะล่าใจ อาจโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์