ปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี
เด็กวัยนี้จะเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตของร่างกายที่ช้าลงกว่าขวบปีแรก เด็กจึงกินอาหารน้อยลงเนื่องจากมีความต้องการน้อยลงตามวัย น้ำหนักที่เคยขึ้นถึง 5-6 กิโลกรัมในขวบปีแรก จะลดเหลือเพียงประมาณ 2 กิโลกรัมต่อปี การที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ จะช่วยลดความเครียด ความคาดหวังและความกดดันของคุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ
ธรรมชาติของเด็กวัย 1-3 ปี
เด็กวัยนี้จะกินอาหารไม่มากประมาณ 1 ใน 4 หรือ ไม่เกินครึ่งของผู้ใหญ่ มีลักษณะการทานอาหารที่ไม่สม่ำเสมอ บางมื้อทานได้มาก บางมื้อทานได้น้อย ส่วนใหญ่มักจะขึ้นกับอาหารที่ชอบ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรคาดหวังว่าเด็กจะต้องกินอาหารเท่ากันทุกวัน
เมื่อเด็กอิ่มก็จะแสดงอาการไม่สนใจอาหาร หันศีรษะหนี หรือผลักจานอาหารออก คุณพ่อคุณแม่ควรหยุด ไม่บังคับให้เด็กทานต่อ เพราะจะทำให้เด็กปฏิเสธ, ต่อต้านการกินและทำให้เกิดปัญหาการกินตามมา ในวัยนี้ เด็กส่วนใหญ่จะกินอาหารได้เองพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรจัดให้เด็กกินอาหารร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ เพื่อได้เรียนรู้แบบอย่าง
เด็กบางคนจะกินอาหารที่ชอบซ้ำซากเป็นเวลาต่อเนื่องกันในขณะที่เด็กบางคนชอบลองอาหารใหม่ บางคนชอบอาหารอย่างหนึ่งในวันนี้แล้วในวันต่อมาไม่ยอมกินเลย บางคนกินอาหารชนิดหนึ่งซ้ำซาก ทุกมื้อเป็นเดือนแล้วก็หยุดกินทันทีทันใด
ปริมาณและลักษณะอาหารของเด็กวัย 1-3ปี
1.ลูกน้อยจะต้องการพลังงานวันละ 1,000 กิโลแคลอรี่/วัน โดยจัดให้ครบ 5 หมู่และมีความหลากหลาย ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ผัก ผลไม้ และไขมัน เป็นหลัก นมจะลดบทบาทกลายเป็นอาหารเสริม
2.จัดอาหารให้มี 4 - 5 มื้อ ใน 1 วัน แบ่งเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ โดยมื้อว่างควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรเป็นขนมหวาน หรืออาหารที่ทอด เพราะจะทำให้ได้รับพลังงานมากเกินไป และเป็นสาเหตุทำให้เด็กอ้วนได้
3.ลูกน้อยควรได้รับโปรตีนวันละ 20-25 กรัม หรือประมาณ 1.8 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว จากไข่ โดยเฉพาะไข่ขาว วันละ 1 ฟองหรืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 4 ฟอง, เนื้อสัตว์เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่และถั่วต่าง ๆ
4.นมรสจืดวันละ 2-3 แก้ว (400-600 มิลลิลิตร) ถ้าลูกน้อยยังทานนมแม่ควรให้นมแม่ต่อไป ถ้าลูกน้อยทานนมผสม ให้เปลี่ยนเป็นนมผงที่สำหรับเด็ก 1 ขวบขึ้นไป หรือเปลี่ยนเป็นนมวัวสดครบส่วนชนิดจืด UHT ที่เป็นนมสดครบส่วน (whole milk) มีไขมันเต็มจำนวน (full fat milk) โดยให้ดูดจากกล่อง หรือดื่มจากแก้ว
5.ดื่มน้ำ 4-6 แก้ว ต่อ วัน หรือ 1,000 -1,500 มล.
6.แร่ธาตุที่ควรได้รับ ได้แก่
- แคลเซียม และฟอสฟอรัสสำหรับสร้างกระดูกและฟัน อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม เด็กวัยนี้จึงควรดื่มนมเป็นประจำทุกวัน
- แมกนีเซียม อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด
- ธาตุเหล็กจำเป็นสำหรับการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง พบมากในตับ และถั่วต่าง ๆ
7.วิตามินที่สำคัญสำหรับเด็กในวัยนี้ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินซี และวิตามินบีต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ใน ผลไม้สดเช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ส้ม ฝรั่ง และมะเขือเทศสุก
8.จัดอาหารให้หลากหลาย เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองอาหารใหม่ ๆ เสมอ แต่ถ้าเด็กปฏิเสธไม่ยอมทานก็ไม่ควรบังคับควรเว้นระยะแล้วให้ลองทานใหม่
9.รสชาติของอาหารไม่ควรมีรสจัดจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นรสหวาน เค็ม เปรี้ยว อาหารที่เค็มเกินไปจะมีผลต่อการทำงานของไต ส่วนรสหวานจะทำให้เด็กติดรสหวานจนอาจเกิดภาวะอ้วนตามมา
10.ลักษณะสัมผัสของอาหารควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม ไม่กรอบ แข็ง หรือเหนียวเกินไป เพราะระยะนี้เหงือกฟันยังไม่แข็งแรง อาหารมีลักษณะเหนียว เช่น เนื้อหมู ต้องต้มเคี่ยวให้เปื่อย หรือสับให้ละเอียดรสอาหาร
11.อาหารที่จัดให้เด็กขนาดชิ้นควรพอดีคำ ไม่ควรให้อาหารที่มีลักษณะเป็นก้อนกลม โดยเฉพาะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร เพราะอาจหลุดเข้าคอทำให้ติดคอ หรือสำลักได้
12.อาหารที่เด็กควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารหมักดองต่าง ๆ อาหารที่ปรุงไม่สุก หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีรสจัด และเครื่องดื่มประเภทน้ำชาและกาแฟ
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!