ออทิสติก (Autistic) คือ กลุ่มอาการที่แสดงความผิดปกติของพัฒนาการของเด็ก ชอบแยกตัว อยู่กับตัวเอง ไม่พูดหรือติดต่อสื่อสารทางภาษากับคนอื่น เด็กที่เป็นโรคนี้จะเป็นตั้งแต่แรกเกิด แต่อาการจะแสดงออกมาให้เห็นเมื่อเด็กมีอายุ 3 เดือน 5 เดือน หรือมากกว่านั้น ส่วนใหญ่จะเห็นเมื่อเด็กอายุ 2 ขวบ
เด็กที่เป็นออทิสติกมาตั้งแต่กำเนิดนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม การที่พ่อแม่มีโรคบางอย่างถ่ายทอดถึงลูกในครรภ์ การที่แม่ติดเชื้อไวรัสบางตัวขณะที่ตั้งครรภ์ ความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย รวมทั้งการติดเชื้อขณะคลอด อย่างไรก็ตามสาเหตุที่แน่ชัดของโรคออทิสติกนั้นยังไม่สามารถระบุได้ โดยทั่วไปแล้วโรคออทิสติกจะส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม ซึ่งก็คือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพัฒนาการของลูกได้ ดังนี้
พัฒนาการด้านภาษา
พูดช้า หรือยังไม่พูดเมื่อถึงวัยที่สมควร
พูดคำซ้ำๆ
พูดด้วยภาษาของตัวเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ
พูดติดๆ ขัดๆ
พูดด้วยโทนเสียงที่ผิดปกติ
พูดไม่ชัดมากๆ
พัฒนาการด้านสังคม (การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง)
ไม่สบตา ไม่มองหน้า
ไม่สื่อสารแสดงความต้องการของตัวเอง เช่น ไม่ชี้ไปที่ของที่อยากได้
ไม่แสดงอารมณ์ทางสีหน้า ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ
ชอบเล่นคนเดียวหรืออยู่คนเดียว
ไม่สนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับใคร เช่น ไม่ทักใครก่อน ไม่ยิ้มให้ ไม่ยิ้มตอบ วิ่งหนีเมื่อมีคนมาทัก
ไม่สามารถสนทนากับผู้อื่นได้นานๆ
ไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ไม่มีเพื่อนสนิทตามวัย
พัฒนาการด้านอื่นๆ
ชอบทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ
ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รับการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ เช่น ต้องใส่
รองเ ท้าคู่เดิมสีเดิม ถ้าเปลี่ยนรองเท้าคู่ที่ใส่จะร้องไห้ไม่ยอมหยุด
ชอบเรียงของให้เป็นระเบียบ เช่น เรียงของเล่นให้เป็นแถวต่อๆ กันไป
สนใจวัตถุเฉพาะส่วน เช่น รถยนต์ของเล่น อาจจะสนใจดูแต่ส่วนล้อที่หมุนๆ พัดลมที่ส่ายไปมา หรือรายละเอียดบางอย่าง
ไม่เล่นสมมติตามวัย
หัวใจสำคัญของการดูแลไม่ได้อยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่อยู่ที่ครอบครัวด้วยว่าจะสามารถนำวิธีการบำบัดรักษาต่างๆ ที่ได้รับ มาประยุกต์ใช้ที่บ้านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอหรือไม่ ในการดูแลออทิสติก ไม่มีวิธีการใดที่ดีที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด เพียงวิธีการเดียว และไม่มีรูปแบบที่เป็นสูตรสำเร็จรูปแบบเดียว ที่ใช้ได้กับทุกคน แต่ต้องเป็น “การดูแลแบบบูรณาการ” กล่าวคือ ใช้วิธีการบำบัดรักษาหลายวิธีร่วมกัน โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ ร่วมกับครอบครัวของบุคคลออทิสติก สุมหัวรวมความคิด ช่วยกันออกแบบการดูแลรักษา ให้เหมาะสมกับความสามารถ และสภาพปัญหาของแต่ละคน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การดูแลด้วยความรัก ก็คือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนมีอยู่เต็มเปี่ยมอยู่แล้ว แต่ที่นำมาเน้นย้ำ เนื่องจากในความรักที่มีอยู่นี้ มักจะถูกบดบังด้วยความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ และความรู้สึกอื่นๆ อีกมากมายในบางช่วงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมาได้ในการดูแล แต่จำเป็นต้องหาวิธีจัดการกับความรู้สึกต่างๆ อย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับการพัฒนาด้วยความเข้าใจก็เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากกระบวนการพัฒนาต้องอาศัย ความรู้ ความเข้าใจ