พังผืดใต้ลิ้น เป็นเยื่อบางๆ บริเวณโคนลิ้นที่เกิดขึ้นในทารกทุกคน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากว่าลูกของเรามีพังผืดใต้ลิ้น ยึดติดมาก ทำให้ลิ้นของเด็กติด จนส่งผลให้ทารกแรกเกิด มีปัญหาในการดูดนมแม่ เช่น งับหัวนมแม่ไม่ติด ดูดเบา ดูดบ่อย น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด บางรายจะใช้เหงือกช่วยในการดูดนม เพราะหากทารกมีพังผืดติดใต้ลิ้นมากเกินไป จะทำให้ปลายลิ้นขยับออกมาที่ลานหัวนมไม่ได้เมื่อต้องดูดนม คือแทนที่จะใช้ลิ้นช่วยในการดูดนม กลับต้องใช้เหงือกช่วยแทนซึ่งจะทำให้แม่เจ็บหัวนม หรือหัวนมแตกเป็นแผล แบบนี้ต้องรีบแก้ไข
พังผืดใต้ลิ้น เป็นปัญหาที่เกิดจากพันธุกรรม ในบางรายที่เป็นไม่มาก ยังสามารถดูดนมแม่ได้ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่พยายามให้นมลูกต่อไปเรื่อยๆ ฝึกให้ลูกแลบลิ้น แล้วพังผืดนั้นก็อาจจะยืดออกมาได้เอง แต่สำหรับลูกน้อยที่เป็นมาก จนมีผลต่อการดูดนม ลูกน้อยต้องได้เข้ารับการผ่าตัด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นการผ่าตัดเล็กๆ คุณแม่ไม่ต้องกังวล โดยคุณหมดจะใช้ยาชา ไม่ต้องวางยาสลบ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที เมื่อผ่าตัดเสร็จสามารถดูดนมแม่ได้ทันที และแผลหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
วิธีสังเกตว่าลูกน้อย จะมีอาการดังนี้
- ลูกแลบลิ้นได้ไม่พ้นริมฝีปากหรือเหงือกบนไม่สามารถกระดกปลายลิ้นขึ้นไปสัมผัสเพดานปากได้
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้นไปด้านข้างได้
- เมื่อแลบลิ้น ปลายลิ้นจะแบนไม่มน หรือเป็นเหลี่ยม ไม่แหลมมนอย่างทั่ว ๆ ไป
- ปลายลิ้นอาจเป็นร่องหยักเข้ามา หรือเป็นรูปหัวใจ
วิธีสังเกตุจากการดูดนมของลูกน้อย
- เจ็บหัวนมหรือมีร่องรอยฟกช้ำหรือเป็นแผล
- หัวนมผิดรูปไปหลังจากให้นมลูกแล้ว
- มีรอยกดหรือรอยเป็นริ้ว ๆ บนหัวนมหลังลูกดูดนมแล้ว
- ลูกมักดูดไม่ได้ หรือดูดแล้วหลุด เลยทำให้ดูดได้แต่ลม
- ได้ยินเสียงคล้ายกระเดาะลิ้นจากปากลูกขณะดูดนมแม่
- น้ำหนักตัวลูกไม่ขึ้นหรือขึ้นช้า
อย่างไรก็ตาม ภาวะพังผืดใต้ลิ้นมีแนวโน้มที่จะยืดออกได้เอง หากยังไม่มีปัญหาการดูดนมแม่ แพทย์จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะๆ เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งในการพูด โดยเฉพาะปลายลิ้นที่ต้องช่วยในขณะออกเสียงควบกล้ำ ดังนั้นในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้นก็อาจพูดไม่ได้ พูดช้า และมีปมด้อยได้