ลูกแค่เศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่
โรคซึมเศร้า (depression) เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์เศร้าติดต่อกันเกือบทั้งวัน และเป็นติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป โรคนี้เกิดได้ในทุกเพศทุกวัย คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่มีความเป็นห่วงลูกจึงอาจกังวลว่า เมื่อลูกโตขึ้นจนเริ่มเข้าสู่วัยเรียนจะต้องมีการปรับตัวเข้าสู่สังคมในโรงเรียน
การใช้ชีวิตของลูกจะเป็นอย่างไร และเมื่อพบว่าลูกมีความเครียดสะสม เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูด เริ่มไม่อยากไปโรงเรียน จะเป็นเพราะว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก
อะไรเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก
*พันธุกรรม ถ้ามีประวัติมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในครอบครัว ก็จะมีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากกว่าเด็กทั่วไป
*การที่เด็กได้รับยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาลดความดัน สารเสพติดต่างๆ
*โรคบางชนิด เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
*สภาพแวดล้อมหรือความเครียด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาในครอบครัว การทะเลาะกับแฟนกับเพื่อน ผลการเรียนตกต่ำ ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเสมอๆ หรือรู้สึกไม่ชอบ กลัว กังวลกับบุคคลรอบข้าง หรือเด็กขาดความมั่นใจในตนเอง กลัวการแข่งขัน
อาการแบบไหน...ที่สงสัยได้ว่าลูกอาจเป็นโรคซึมเศร้า
*มีอารมณ์ที่ซึมเศร้าลง เบื่อหน่ายมากขึ้น หรือบางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิด
*เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูดเหมือนก่อน
*ไม่มีความสุขความเพลิดเพลินเมื่อทำกิจกรรมที่ชอบ หรือไม่ชอบทำกิจกรรมที่เคยชอบทำมาก่อน เช่น เคยชอบวาดรูป แต่ตอนนี้ไม่ชอบแล้ว
*ไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักลดลง หรือในบางรายก็กินอาหารมากเกินไป
*นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าปกติ ในขณะที่บางรายก็นอนทั้งวัน
*เศร้า เฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไรเลย
*ไม่มีสมาธิในการเรียน ความจำแย่ลง
*รู้สึกผิด โทษตัวเอง รู้สึกไร้ค่า
*แอบร้องไห้คนเดียว
*ใครทำอะไรให้ ก็ผิดหูผิดตาไปซะหมด
*อยากฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย
อย่างไรก็ตาม การมีอาการดังกล่าวก็ใช่ว่าลูกจะเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป ดังนั้นหากผู้ปกครองสงสัย ก็ควรพาลูกไปปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเสียก่อน เพื่อการวินิจฉัยว่าเป็นอะไรกันแน่ และใช้เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ จะได้ทำการรักษาให้ถูกจุดต่อไป
วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า
หากลูกได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้าแน่นอนแล้ว การดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การรักษาด้วยการกินยาและการรับคำปรึกษาจากแพทย์ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรปฏิบัติตัวดังนี้
*หมั่นพูดคุยกับลูก สังเกตพฤติกรรม สอบถามความรู้สึก ความสุขของลูก สารทุกข์สุกดิบต่างๆ
*ทำกิจกรรมร่วมกับลูก สร้างบรรยากาศใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น และต้องไม่เป็นกิจกรรมที่เด็กไม่ชอบ เพราะจะทำให้อาการแย่ลงไปกว่าเดิมได้
*พูดคุยกับลูกโดยใช้เหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ให้ความเอาใจใส่และความอบอุ่นแก่ลูกอยู่เสมอ
*เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เร่งรัด สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด
*คอยสำรวจพฤติกรรมหรือขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูก
*เปิดเผยพูดคุยกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของลูกที่พบที่บ้านและโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด
*ควรปรึกษาจิตแพทย์เป็นประจำ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องต่อไป
เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai