ภาวะหายใจลำบาก (RDS) ภัยร้าย...ทารกแรกเกิด

ภาวะหายใจลำบาก (RDS) ภัยร้าย...ทารกแรกเกิด


ความปรารถนาสูงสุดของคุณแม่ตั้งครรภ์ แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น...ต้องการให้ลูกสุดที่รักลืมตาออกมาดูโลกด้วยสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ครบถ้วน แต่ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในระหว่างการตั้งครรภ์ของคุณแม่นั้นอาจเกิดความผิดพลาดที่ทำให้ลูกในครรภ์ต้องเผชิญกับภาวะผิดปกติได้ ซึ่งหนึ่งในภาวะผิดปกติที่พบได้บ่อย และมีความอันตรายถึงขั้นทำให้เด็กเสียชีวิตได้เลย ก็คือ "ภาวะ RDS" ซึ่งจะเป็นกลุ่มอาการแบบไหน และมีวิธีการป้องกันรักษาดูแลอย่างไร วันนี้ทางโรงพยาบาลพญาไท 3 มีคำตอบมาฝากกันครับ เพื่อให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่ ตั้งครรภ์ได้อย่างอุ่นใจมากขึ้น

RDS คืออะไร ทารกกลุ่มไหนเสี่ยงมากที่สุด?

"RDS" หรือ "Respiratory Distress Syndrome" คือภาวะหายใจลำบากของทารกตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการที่ปอดยังสร้างไม่สมบูรณ์ และขาดสาร Surfactant หรือ สารลดแรงตึงผิว อันมีผลทำให้ปอดแฟบ หายใจเข้าออกได้อย่างไม่เป็นปกติ และหากเป็นรุนแรง ทารกก็จะไม่สามารถหายใจเองได้ ซึ่งสาเหตุหลักๆ นั้น เป็นผลมาจากการคลอดก่อนกำหนด แต่ทั้งนี้ เด็กที่อยู่ในครรภ์ครบกำหนดก็สามารถพบภาวะ RDS ได้เช่นกัน แต่จะมีจำนวนน้อยกว่ามาก และถ้าหากมีก็จะเป็นสาเหตุมาจากปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ อาทิ คุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลทำให้ปอดของทารกพัฒนาช้ากว่าอายุครรภ์จริงนั่นเอง

ปัจจัยอะไรกันที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดจนเสี่ยงเป็น RDS?

ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด จนทำให้ทารกน้อยที่คลอดออกมามีโอกาสเสี่ยงเป็น RDS มีภาวะหายใจลำบากนั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประการหลักๆ ดังต่อไปนี้

+ปัจจัยด้านมารดา โดยหากคุณแม่มีอายุมาก มีโรคประจำตัวมาก อาทิ เป็นโรคหัวใจ โรคไต หรือระหว่างตั้งครรภ์มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ก็จะมีโอกาสทำให้เด็กไม่แข็งแรง คลอดก่อนกำหนด และเสี่ยงเป็นภาวะ RDS ได้

+ปัจจัยด้านเด็กทารก หากพบว่าตัวเด็กเองมีภาวะผิดปกติ เช่น มีความพิการแต่กำเนิด มีโครโมโซมที่ผิดปกติ ก็สามารถทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ หรือในกรณีของการตั้งครรภ์แฝด ไม่ว่าจะแฝด 2 แฝด 3 หรือมากกว่านั้น ก็สามารถเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด จนเสี่ยงภาวะ RDS ได้เช่นกัน

+ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น คุณแม่มีการติดเชื้อแอบแฝง หรือ รกมีความผิดปกติ อาทิ รกเกาะต่ำ จนทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย ก็เป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้คุณแม่เจ็บครรภ์ จนคลอดก่อนกำหนดได้

ทารกที่เป็น RDS จะมีอาการอย่างไร?

อาการของทารกที่เป็นภาวะ RDS หรือ ภาวะหายใจลำบากนั้น จะพบได้ตั้งแต่แรกคลอด คือ แพทย์และทุกคนจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า เด็กมีอาการหายใจเหนื่อยตั้งแต่คลอดออกมา ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็อาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่คลอดออกมาก่อนกำหนดมากๆ หรือมีอายุครรภ์น้อยๆ จะยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะหายใจลำบากที่รุนแรงมากกว่าเด็กที่มีอายุครรภ์มากกว่า เพราะตัวเนื้อปอดสมบูรณ์น้อยกว่า

วินิจฉัยและรักษาอย่างไร เมื่อลูกเป็น RDS?

ในการวินิจฉัยนั้น แพทย์จะตรวจสอบตั้งแต่ประวัติส่วนตัวว่าเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ จากนั้นก็จะตรวจร่างกาย ร่วมกับการฟังเสียงปอดว่าลมเข้าได้ดีหรือเปล่า ก่อนจะทำการเอ็กซเรย์เพื่อให้ได้ผลตรวจที่ชัดเจน โดยหากผลเอ็กซเรย์ออกมาเป็นฝ้าขาว มีลักษณะของการขยายปอดที่ไม่ดี ร่วมกับมีอาหารหายใจลำบาก หอบเหนื่อย ก็แสดงว่ามีภาวะ RDS จะต้องรีบทำการรักษาทันที และเนื่องจากภาวะ RDS เป็นภาวะที่ปอดผิดปกติ การรักษาหลักๆ จึงเป็น "การช่วยหายใจ" ซึ่งจะช่วยอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ "ความรุนแรงของโรค" เพราะเด็กอายุครรภ์ไม่เท่ากัน อาการก็จะรุนแรงต่างกัน ยิ่งอายุครรภ์น้อย ก็จะยิ่งรุนแรงมาก โดยระดับของการรักษาภาวะ RDS ด้วยวิธีการช่วยหายใจนั้น มีดังต่อไปนี้

+อาการไม่รุนแรง เด็กสามารถหายใจเองได้ในระดับหนึ่ง แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ออกซิเจนธรรมดา แล้วไม่นานเด็กก็จะปรับตัวได้ หายใจได้ดีมากขึ้น

+อาการระดับกลาง เด็กมีภาวะหายใจลำบากค่อนข้างมาก แพทย์จะพิจารณาใช้เครื่องช่วยหายใจที่ใส่ผ่านจมูก เพื่อดันอากาศและออกซิเจนเข้าไปในปอดของเด็ก เพื่อให้ปอดที่แฟบขยายตัว ร่วมกันกับการให้ออกซิเจนเพื่อให้ร่างกายเด็กแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีขึ้น จนกระทั่งหายเป็นปกติ

+อาการระดับรุนแรงมาก ในกรณีที่เด็กหายใจเองไม่ได้เลย หรือใส่เครื่องช่วยหายใจผ่านทางจมูกแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์จะใช้การรักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ 100%

สำหรับการรักษาภาวะ RDS นั้น นอกจากการให้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือ "การรักษาภาวะปอดที่ไม่สมบูรณ์" ซึ่งทำได้ด้วยการพ่นสาร Surfactant หรือ สารลดแรงตึงผิวให้เด็ก เพื่อให้ปอดขยาย ซึ่งจะทำให้เด็กค่อยๆ มีอาการที่ดีขึ้น และลดจำนวนวันที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจลงได้ ทั้งนี้ โดยปกติปอดคนเราจะมีการสร้างสาร Surfactant เองอยู่แล้วตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อเด็กคลอดออกมาก่อนกำหนด ยังมีสาร Surfactant ไม่สมบูรณ์ แพทย์ก็จะช่วยพ่นเพิ่มเติมให้ไปก่อน จนกระทั่งเด็กมีอายุมากขึ้น ร่างกายปรับตัวได้ดีขึ้น เซลล์ปอดก็จะสามารถสร้างสาร Surfactant เองได้ อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกลับมาหายดี หายใจได้เองเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการรักษาจะเร็วหรือนานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของเด็กแต่ละคน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เด็กที่คลอดต่ำกว่า 23 สัปดาห์ส่วนใหญ่จะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ แต่ถ้าเกิน 23 สัปดาห์ขึ้นไป ร่วมกับมีน้ำหนักตัวเกิน 400 กรัมขึ้นไป ก็จะมีโอกาสรอดเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนานหลายสัปดาห์ถึงขั้นเป็นเดือน

ดูแลครรภ์อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด?

จริงๆแล้ว วิธีการป้องกัน RDS หรือ ภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด ก็คือ การดูแลครรภ์ให้ดีที่สุด ให้เด็กคลอดออกมาด้วยอายุครรภ์ที่ครบกำหนด 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์ ทั้งนี้ แนวทางในการดูแลครรภ์ให้ดีนั้น คุณแม่สามารถทำได้โดย

1.ในระหว่างฝากครรภ์ คุณแม่ต้องไปพบสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองดูว่ามีภาวะเสี่ยงหรือเปล่า

2.ในกรณีที่ตรวจแล้วพบว่าคุณแม่มีภาวะเสี่ยง เช่น อายุมาก คือ ตั้งครรภ์เกินอายุ 35 ปีขึ้นไป มีภาวะเบาหวาน ตั้งครรภ์แฝด หรือครรภ์เป็นพิษ จะถือว่าเป็น High Risk Pregnancy คือ เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ก็จะต้องได้รับการดูแลแบบเฉพาะทางพิเศษอย่างใกล้ชิด

3.หมั่นสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการผิดปกติ เช่น จ็บท้องผิดปกติ มีมูกเลือดทางช่องคลอด รู้สึกไม่แน่ใจว่ามีน้ำอะไรไหลออกมาจากช่องคลอด พบภาวะลูกดิ้นน้อยลง หรือคุณแม่มีไข้ มีตกขาวที่เหม็น หรือเจ็บท้องน้อย หรือไม่ เพื่อจะได้รีบมาพบแพทย์ได้ทันเวลา เพราะหากมีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด และมาพบแพทย์ได้ทัน แพทย์อาจจะสามารถให้ยายับยั้งไม่ให้คลอดก่อนกำหนดได้ ก็จะทำให้เด็กปลอดภัยจากภาวะ RDS มากขึ้น หรือมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนักเมื่อคลอด

หออภิบาลทารกแรกเกิดวิกฤต ศูนย์ช่วยชีวิตทารกไม่แข็งแรง
NICU หรือ Neonatal Intensive Care Unit คือ หออภิบาลทารกแรกเกิดวิกฤติ ที่ทำหน้าที่ดูแลทารกแรกเกิดที่คลอดออกมาแล้วมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหน ก็สามารถดูแลได้ทั้งหมด เปรียบเสมือนเป็น ICU ของเด็กทารกโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลจะมีศูนย์ NICU นี้ได้ เพราะจำเป็นต้องมีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องเป็นแพทย์ พยาบาล และทีมที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ รวมถึงต้องมีเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษาที่ครบครันด้วย ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรพิจารณาก่อนการเลือกฝากครรภ์ ก็คือการใช้บริการโรงพยาบาลที่มีศูนย์ NICU อยู่ด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า หากเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และทำให้ทั้งแม่และลูกมีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น

Preterm Infant Center ศูนย์ดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกคลอดก่อนกำหนด

เนื่องด้วยการคลอดก่อนกำหนด หรือ Preterm นั้น เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ทั้งคุณแม่และทารกน้อยเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายมากที่สุด โรงพยาบาลพญาไท 3 จึงให้ความสำคัญกับการดูแลอย่างพิถีพิถัน ผ่านศูนย์ Preterm Infant Center ที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดลงให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมสำหรับการดูแล รักษา และช่วยเหลือคุณแม่และทารกที่คลอดก่อนกำหนดให้สามารถกลับมามีชีวิตที่มีความสุขและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ให้ได้ ด้วยจำนวนบุคลากร และความพร้อมทั้งหมดที่มี จึงทำให้คุณแม่ทุกคนอุ่นใจได้เลยว่า จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและดีที่สุด

แม้ RDS หรือภาวะหายใจลำบากของทารกตั้งแต่แรกเกิดนั้น จะมีอันตรายจนถึงขั้นทำให้เด็กเสียชีวิตได้ แต่ก็ถือเป็นโรคที่เป็นเพียงแค่ชั่วคราว สามารถรักษาให้หายขาด กลับมาหายใจ และใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ส่วนคือ การดูแลครรภ์ที่ดีของคุณแม่ ร่วมกับการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทุกด้านในการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทและเพื่อให้เจ้าตัวเล็กของเราลืมตาขึ้นมองเห็นโลกใบนี้ได้ด้วยรอยยิ้มและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ การใส่ใจในการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงการตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลในการฝากครรภ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องเลือกให้ดีที่สุด

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์