สัญญาณเตือน...โรคคาวาซากิ ในเด็ก

สัญญาณเตือน...โรคคาวาซากิ ในเด็ก


โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) คือ กลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วยไข้สูง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เยื่อบุผิว และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต พบบ่อยในเด็กชาวเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ประเทศจีน ส่วนในชาวยุโรปและอเมริกาพบได้น้อย และพบได้น้อยมากในเด็กชาวผิวดำ ซึ่งโรคนี้พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย แต่ยังไม่ทราบถึงอุบัติการณ์ที่แน่ชัด และไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล

โรคคาวาซากิ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ
-ระยะ เฉียบพลัน (Acute stage)
-ระยะ Subacute stage
-ระยะ Convalescent stage

ดังนั้น การให้การวิเคราะห์โรคตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะ ภายใน 5-7 วันแรกของโรคมีความสำคัญมากเพื่อรีบให้การรักษา เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery)

พ่อแม่ควรระวัง! โรคคาวาซากิมักพบในเด็กเล็ก
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับทางพันธุกรรม (genetic) ร่วมด้วย มักพบในเด็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 8 ปี พบมากในช่วงอายุ 1-5 ปี ซึ่งพบได้ทั้งสองเพศ แต่พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (ประมาณ 1.5 :1)

อาการเตือนที่พ่อแม่ต้องสังเกตลูกน้อย
1.เด็กจะมีไข้สูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาไข้จะสูงนาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์

2.อาการตาแดง โดยเยื่อบุตาขาวจะแดง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา และเป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์

3.มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและภายในช่องปาก โดยริมฝีปากแดงแห้ง เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์และผิวหนังริมฝีปากอาจแตกแห้ง เลือดออกและผิวหนัง หลุดลอกได้ ภายในเยื่ออุ้งปากจะแดงและลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอเบอรี่ (Strawberry tongue)

4.ฝ่ามือและฝ่าเท้าจะบวมแดงแต่ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า (ประมาณ 10-14 วันหลังมีไข้) และอาจลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau's line)

5.ผื่นตามตัวและแขนขา มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และมีได้หลายแบบ และผื่นอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายมีผื่นแถวอวัยวะเพศร่วมด้วย และพบประมาณ 60% มีผื่นแดงที่บริเวณฉีดยากันวัณโรดที่หัวไหล่ร่วมด้วย

6.ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยพบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย ขนาดโตกว่า 1.5 ซม. แต่ไม่เจ็บ

7.อาการแสดงอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ ทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการเปลียนแปลงการทำงานของตับ และบางรายมาด้วยอาการช็อก

ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงไม่ครบตามข้อกำหนด (criteria) เรียกภาวะนี้ว่า Incomplete Kawasaki Disease หรือ Atypical Kawasaki disease เป็นต้น

โรคคาวาซากิ...ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งลดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
ปัญหาสำคัญของโรคนี้ คือ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) และการอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจรอบๆ เส้นเลือด พบประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าไม่ได้รับการรักษาภายในช่วง 7-9 วันแรกของโรค ซึ่งถ้าเกิดโรคแทรกซ้อนมากและรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (ประมาณร้อยละ 1-2 )

ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ภายใน 7วัน แรกของโรค และตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และทำ Echocardiogram ตอนเริ่มเป็นโรคและหลังการรักษาเพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และ/ หรือหลอดเลือดหัวใจหรือ ไม่ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และหรือหลอดเลือด ก็จะต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องตามความรุนแรงของโรค

ตรวจให้รู้ว่าเป็น "โรคคาวาซากิ" หรือไม่...ได้ด้วยวิธีนี้
การตรวจวินิจฉัยโรคคาวาซากินั้น อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายพบความผิดปกติดังกล่าว ร่วมกับการวิเคราะห์แยกโรคจากสาเหตุอื่น รวมทั้งการตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และทำ Echocardiogram เพื่อตรวจดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ และทำ Echocardiogram ฃ้ำหลังการรักษา เพื่อดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือไม่ และถ้ามี..ระดับโรครุนแรงแค่ไหน เพื่อวางแนวทางการรักษาต่อไป

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ
1.ให้ยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) ในขนาดสูงเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และ หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลดการอักเสบผนังหลอดเลือด เพื่อไม่ให้เกิดโป่งพอง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

2.ร่วมกับการให้ Aspirin

30มีประมาณ 10 % ที่ผู้ป่วยดื้อต่อการรักษา ต้องให้ยาเพิ่ม

การพยากรณ์โรคและการดำเนินโรค
การพยากรณ์โรคและการดำเนินโรคจะดีถ้าผู้ป่วยไม่เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ และเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ก่อนและหลังการรักษา โดยหลังจากไข้ลดลงแล้ว ต้องทานยากันเลือดแข็งตัว (Aspirin) ต่ออีกนานประมาน 60 วัน ของโรค หรือจนกว่าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจโป่งพอง (aneurysm) กลับเป็นปกติ

กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีการแทรกซ้อนที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) หลังได้รับการรักษาสามารถเล่นและทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป มีประมาณร้อยละ 5-7 ของผู้ป่วย ที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ โดยเกิดเส้นเลือดโป่งพอง ( เช่น coronary artery aneurysm ขนาดเกิน 4- >10 มม. เป็นต้น) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ จึงควรให้รับการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่องจากกุมารแพทย์โรคหัวใจ ด้วยการตรวจ Echocardiogram เป็นระยะ ตามความเหมาะสมของโรคแทรกซ้อน รวมทั้งบางรายอาจต้องทำ Exercise Stress Test, Computer Tomography (CT) และการสวนหัวใจ เพื่อดูความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาต่อเนื่องได้อย่างถูกต้อง จนถึงเป็นผู้ใหญ่

*เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ และได้รับการรักษาด้วย ยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) จะต้องเว้นการรับ Vaccine ชนิดมีตัวเป็นเวลา 7-9 เดือน นับจากได้รับยารักษา

โรคนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้ ประมาณ 3-3.5 % หรือ 6.89 คนต่อผู้ป่วยเด็ก 1000 ราย ต่อปี โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีโรคแทรกซ้อน และพบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีสายสัมพันธ์กันทางสายเลือด โดยพบประมาณ 1-2%

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์