เมื่อลูกมีไข้สูง...ลูกจะชักไหม
ภาวะชักจากไข้สูงเป็นภาวะที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 2-4 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี เมื่อโตขึ้นโอกาสการชักจากไข้สูงก็จะลดลง ‘ภาวะชักจากไข้สูง' เป็นภาวะที่เกิดขึ้นรวดเร็ว ดูรุนแรง และดูน่ากลัวต่อผู้พบเห็น แต่แท้จริงแล้วภาวะนี้ก่อให้เกิดความพิการทางสมองน้อยมาก หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างเหมาะสม ภาวะชักจากไข้สูงนั้นส่วนใหญ่มักพบในเด็กที่มีไข้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นจึงมักพบอาการภายใน 24 ชั่วโมงแรกของไข้ ภาวะนี้จะถูกวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกายเพื่อทำการแยกสาเหตุอื่นๆ ที่รุนแรงกว่าออกไป เช่น การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติของสมดุลน้ำและเกลือแร่ หรือโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ เนื่องจากภาวะเหล่านี้หากพบจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการอื่นๆ ร่วมด้วย
อาการเป็นอย่างไร?-เด็กจะไม่รู้สึกตัว ตาลอย เกร็งแขนขา กระตุกทั้งตัวหรือบางส่วน
-เด็กบางรายอาจมีน้ำลายฟูมปาก ริมฝีปากเขียว ปลายมือปลายเท้าเขียว อุจจาระ-ปัสสาวะราดได้
*สิ่งที่พ่อแม่ควรทราบเบื้องต้นนั่นคือส่วนใหญ่แล้วอาการชักในเด็กมักจะหยุดเองภายใน 5 นาที
การปฐมพยาบาล
1.ตั้งสติ อย่าตื่นกลัว
2.จัดผู้ป่วยนอนตะแคงข้างลงกับบริเวณพื้นที่ที่มีความปลอดภัย (ห่างไกลวัตถุอันตรายหรือของมีคม)
3.หลีกเลี่ยงการนำอุปกรณ์ต่างๆ ประเภทไม้ เศษผ้า ช้อนหรือแม้กระทั่งนิ้วของผู้ช่วยเหลือใส่เข้าไปในปากเด็ก เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเด็กเอง (ฟันอาจหักหลุดเข้าไปอุดทางเดินหายใจ หรือดันลิ้นให้ไปอุดทางเดินหายใจได้) หรืออาจเกิดการบาดเจ็บต่อผู้ช่วยเหลือได้ (ผู้ป่วยขณะนั้นไม่รู้สึกตัวอาจกัดนิ้วผู้ช่วยเหลือทำให้ได้รับบาดเจ็บ)
4.จากนั้นพยายามหาผู้ช่วยเหลือคนอื่น เพื่อติดต่อส่งโรงพยาบาลต่อไป
*บางรายอาจได้รับคำบอกเล่ามาว่า เมื่อเกิดอาการชักอาจทำให้กัดลิ้นขาดได้ ซึ่งในความเป็นจริงโอกาสที่ผู้ป่วยชักจะกัดลิ้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก อาจมีการบาดเจ็บจากการที่ฟันกระทบกันบริเวณด้านข้างลิ้นได้ แต่มักไม่รุนแรง หากเราใช้สิ่งของใส่เข้าไปในปากผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการช่วยเหลือมากกว่า*
การตรวจและการรักษาในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับระยะเวลาของไข้หาสาเหตุของไข้ สอบถามลักษณะหรือรูปแบบของอาการชัก ระยะเวลาที่เกิดอาการชัก ดังนั้นผู้เห็นเหตุการณ์ต้องพยายามเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้แพทย์ทราบด้วย เนื่องจากอาการชักบางรูปแบบต้องพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม จากนั้นก็จะเป็นการตรวจร่างกายรวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติมในกรณีที่สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อหรือมีความผิดปกติของสารน้ำและเกลือแร่ของผู้ป่วย
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography; EEG)
ไม่มีความจำเป็นในรายที่มีอาการชักจากไข้สูงในครั้งแรก ส่วนใหญ่จะตัดสินใจทำในรายที่มีอาการชักเป็นระยะเวลานาน หรือมีรูปแบบอาการชักที่ผิดแปลกหรือมีรูปแบบเฉพาะบางโรค และอาจทำในรายที่มีภาวะไข้สูงแล้วชักมาแล้วหลายๆ ครั้ง
การตรวจน้ำไขสันหลัง
พิจารณาทำในรายที่สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง หรืออาจทำในรายที่ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่มีภาวะชักจากไข้สูง เนื่องจากในเด็กเล็กอาการและอาการแสดงบางอย่างของการติดเชื้อระบบประสาทส่วนกลางไม่ชัดเจน
การตรวจทางรังสีวิทยา (CT/ MRI brain)
ส่วนใหญ่จะทำในกรณีที่พบว่าคลื่นสมองมีความผิดปกติ หรือพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายแล้วสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติในสมอง
ข้อเท็จจริงและคำถามที่พบบ่อย
-ภาวะชักจากไข้สูงในเด็กส่วนใหญ่มักชักระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อสติปัญญาหรือ พัฒนาการของเด็ก
-มีโอกาสชักซ้ำได้ หากมีความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น ชักครั้งแรกอายุน้อยกว่า 1 ปี ญาติสายตรงมีประวัติไข้สูงแล้วชัก หรือมีประวัติชักเป็นระยะเวลานาน
-เด็กที่เคยชักจากไข้สูง เมื่อมีไข้ควรรีบทำการเช็ดตัวลดไข้ รวมถึงกินยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ก่อนที่พามาส่ง โรงพยาบาล เพราะการปล่อยให้เด็กมีไข้อาจส่งผลให้เกิดอาการชักซ้ำจากไข้สูงได้
-โดยทั่วไปภาวะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินยากันชัก เว้นเสียแต่ มีข้อบ่งชี้บางอย่าง ซึ่งต้องมีการพูดคุยและตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและหมอผู้ทำการรักษาถึงผลดีและผลเสียของยากันชักนี้เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai