ทำไงดีนะ! เมื่อลูกรักต้องเข้ารับการผ่าตัด

ทำไงดีนะ! เมื่อลูกรักต้องเข้ารับการผ่าตัด


แม้ว่าการผ่าตัดจะเป็นทางเลือกหนึ่งในหลายวิธีของการรักษา ที่สามารถเห็นผลได้เร็ว ทันท่วงทีต่อภาวะความเจ็บป่วย แต่ก็คงน่ากังวลใจไม่น้อย หากวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกน้อยสุดที่รักต้องเข้ารับการผ่าตัด แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไรทั้งก่อนและหลังผ่าตัดเพื่อให้ลูกรักฟื้นตัวได้ดี วันนี้คุณหมอมีคำตอบ

ยิ่งเตรียมตัวดี ยิ่งลดความเสี่ยง

การผ่าตัดก็คือการทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายเปลี่ยนโครงสร้างไปในทางที่ต้องการ โดยทั่วไปการผ่าตัดสามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ทารกแรกเกิด เด็ก ผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงอายุ โดยแต่ละวัยก็จะมีเทคนิคการผ่าตัดและการดมยาสลบที่แตกต่างกันออกไป หากไม่ใช่การผ่าตัดฉุกเฉิน ควรผ่าตัดเมื่อร่างกายแข็งแรงที่สุด เพราะถ้าไม่สบาย เช่น เป็นหวัด ไอ ไข้หรือน้ำมูก อาจมีความเสี่ยงและมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และก็มีหลายปัจจัยที่สามารถขัดขวางการสมานตัวของแผลไม่ให้เป็นไปในระยะเวลาที่ควรจะเป็น ดังนั้นผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์และสอบถามให้ละเอียดถึงวิธีปฏิบัติตัวก่อนและหลังการผ่าตัดครับ

ความเสี่ยงในการผ่าตัดที่ควรรู้ และคำแนะนำในการดูแลลูกน้อยหลังผ่าตัด


แผลติดเชื้อ (wound infection)
แม้ว่าจะดูแลแผลผ่าตัดอย่างดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ 1-3% ยิ่งหากดูแลแผลไม่ถูกวิธีก็ยิ่งมีโอกาสติดเชื้อสูงถึง 20-25% เลยทีเดียว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอาบน้ำทำความสะอาดบริเวณที่จะผ่าตัดให้ลูกก่อนมา รพ. โดยทั่วไปหากเป็นการผ่าตัดที่มีโอกาสสัมผัสเยื่อบุร่างกาย แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อร่วมด้วย แต่หากหลังผ่าตัดบริเวณแผลมีอาการปวด บวมแดง หรือเจ็บมากขึ้น ให้รีบมาโรงพยาบาลเพื่อให้คุณหมอตรวจสอบแผลโดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลานัดครับ

ตัวเขียวจากหลอดลมตีบ (bronchospasm)

ภาวะหลอดลมตีบจากการดมยาสลบเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่ไม่สามารถป้องกันได้ แม้ในเด็กที่มีร่างกายแข็งแรงก็มีโอกาสเกิดได้ 3-5% แต่ถ้าไอมีเสลด,มีน้ำมูกมาก หรือมีไข้ ก็จะยิ่งมีโอกาสที่หลอดลมตีบมากขึ้น โดยพบได้ถึง 15-28% ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตรายต้องได้รับการรักษาและให้ยาอย่างทันท่วงทีโดยทีมวิสัญญีแพทย์ หากหลอดลมตีบรุนแรงแนะนำให้นอนสังเกตอาการในห้องไอซียู ดังนั้นถ้าลูกไอมีเสลด,มีน้ำมูกมาก หรือมีไข้ คุณหมอแนะนำให้เลื่อนผ่าตัดไปก่อนจนกว่าน้องจะหายดีครับ

ข้อควรรู้หลังผ่าตัดไส้เลื่อน (Hernia in child)

หลังการผ่าตัดบริเวณขาหนีบ เช่น การผ่าตัดไส้เลื่อน,ถุงน้ำอัณฑะ หรืออัณฑะไม่ลงถุง (Hernia, Hydrocele, Undescended testis) บริเวณถุงอัณฑะมักบวมน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ใน 3 วันแรกหลังการผ่าตัด แต่จะยุบลงไปเองภายใน 2 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 2 เดือน โดยระหว่างพักฟื้นห้ามเบ่งหรือกลั้นปัสสาวะโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้แผลปริ บวม และมีเลือดออกได้ รวมทั้งควรงดกิจกรรมที่มีการกระแทกท้องหรือเคลื่อนไหวบิดตัว เช่น ปั่นจักรยาน เตะบอล เล่นบาส ว่ายน้ำ อย่างน้อย 1 เดือนหลังการผ่าตัด หากแผลแยกหรือไหมหลุดไม่ต้องตกใจ ให้ไปโรงพยาบาลเพื่อทำแผล

ข้อควรรู้หลังผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้น (Tongue-tie revision)

ในวันแรกหลังการผ่าตัดอาจมีเลือดออกได้หากลิ่มเลือดหลุดออกเร็วเกินไป ให้คุณพ่อคุณแม่เอามุมผ้าอ้อมพับหนาๆชุบน้ำดื่มให้ทารกดูดและเอานิ้วชี้กดเหนือลิ้น 10 นาที เลือดก็จะหยุด วันที่สองจะเริ่มมีสะเก็ดเป็นสีขาวเหลืองไปอุดบริเวณแผล ซึ่งจะคงอยู่แบบนี้ไปประมาณ 7-14 วัน ให้ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องพยายามไปแกะออก แต่ให้บ้วนปากด้วยน้ำดื่มวันละ 10 รอบ โดยในเด็กเล็กให้ฝึกออกกำลังลิ้น (tongue excercise) ตามคำแนะนำของแพทย์ และในเด็กโตใช้ลิ้นแตะริมฝีปากบน เลียไอติม น้ำหวาน และหัดออกเสียงคำควบกล้ำและ ร เรือ เช่น เรารักโรงเรียน เรารักแม่ บ่อยๆ

ข้อควรรู้หลังผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ (Open and Laparoscopic Appendectomy)

ให้พยายามหายใจลึกๆ เพื่อลดภาวะปอดแฟบ (atelectasis) ซึ่งมักเกิดในวันแรกๆหลังผ่าตัด และภายใน 7 วันแรกหลังการผ่าตัด ควรพยายามลุกเดินบ่อยๆ เพื่อลดภาวะลำไส้ทำงานช้า (postoperative ileus) และพังผืดรัดลำไส้ (adhesion) ซึ่งจะทำให้อาเจียนและปวดแน่นท้องได้ โดยทั่วไปภาวะลำไส้ทำงานช้าและพังผืดรัดลำไส้มี 2 ประเภท คือ แบบไม่ต้องผ่าตัด (พบได้ 10-15%) และแบบที่ต้องผ่าตัด (พบได้ 1%) พังผืดจะพบได้มากในกรณีที่ไส้ติ่งเน่าหรือแตก เพราะมีการอักเสบภายในช่องท้องมาก ลำไส้จึงเริ่มทำงานช้ากว่าปกติ เพื่อป้องกันภาวะนี้ ผู้ป่วยจึงควรพยายามลุกนั่งและเดินให้ได้มากที่สุด โดยเด็กจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ลำไส้ทำงานเร็ว และลดโอกาสเกิดหนองกักขังภายในช่องท้องได้มากกว่าผู้ใหญ่

    นอกจากนี้ หลังการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบยังสามารถพบภาวะแผลติดเชื้อ (wound infection) ได้ 5-50% ในกรณีที่ไส้ติ่งอักเสบระยะแรกจะพบภาวะแผลติดเชื้อได้น้อยกว่า แต่หากไส้ติ่งเน่าหรือแตก (complicated appendicitis) จะพบการติดเชื้อได้มากถึง 50% ดังนั้นการรักษาไส้ติ่งแตก จึงนิยมใช้เทคนิคชะลอการเย็บแผล โดยจะทำการฉีดยาชาเพื่อเย็บแผลหลังผ่าตัด 5-7 วัน (delay primary suture) แต่ในปัจจุบันมีเทคนิคการเย็บแผลแบบห่าง (semidelay primary suture) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถลดการเกิดภาวะแผลติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องนำเด็กมาเย็บแผลอีกครั้ง หรืออาจใช้ธาตุเงิน หรือ ไอโอดีน ประคบแผลเพื่อลดการติดเชื้อได้อีกช่องทางหนึ่ง 

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์