โรคตาขี้เกียจ... รักษาก่อน 9 ขวบ มีโอกาสมองเห็นได้ปกติ

โรคตาขี้เกียจ... รักษาก่อน 9 ขวบ มีโอกาสมองเห็นได้ปกติ


ความผิดปกติบางอย่างก็ไม่อาจสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่าง "โรคตาขี้เกียจ" หรือที่ปู่ย่าตายายเรียกว่า "โรคตาบอดตาใส" เพราะลักษณะภายนอกมักไม่พบความผิดปกติ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัด บางรายอาจตาเข ซึ่ง พญ.ณัฐสุชา หวังถิรอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารจักษุแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 3 บอกว่าเมื่อพ่อแม่ไม่ทราบว่าลูกป่วยเป็นโรคตาขี้เกียจ จึงไม่ได้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

"โรคตาขี้เกียจ" คืออะไร
คุณหมอณัฐสุชา อธิบายว่า โรคตาขี้เกียจเกิดจากตาทั้ง 2 ข้างเห็นชัดไม่เท่ากัน ร่างกายจึงเลือกใช้ตาข้างที่เห็นชัดมากกว่า ทำให้การพัฒนาประสาทส่วนการมองเห็นจึงเกิดการกระตุ้นในตาข้างเดียวทำให้มองเห็นชัดตาเดียว หรือเกิดจากตามองเห็นไม่ชัดทั้ง 2 ข้าง ทำให้สมองพัฒนาประสาทการรับรู้ส่วนอื่นแทน จึงตามัวทั้ง 2 ข้าง

ในคนปกติ การพัฒนาประสาทส่วนการมองเห็นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 3 เดือน และพัฒนาไปเรื่อยๆ จนอายุ 9 ปี ดังนั้น หากไม่รักษาในช่วงเวลานี้ มักรักษาไม่ได้อีก

สาเหตุเหล่านี้ไง ทำให้เป็นโรคตาขี้เกียจ

--มีสิ่งขวางกั้นทำให้ตามองภาพไม่ได้ (Deprivative amblyopia) - เช่น หนังตาตก กระจกตาขุ่น ต้อกระจก หรือ มีเลือดออกในตา เป็นต้น โรคกลุ่มนี้ทำให้สมองส่วนการมองเห็นไม่ได้รับการพัฒนาตามวัย

--ตาเข (Strabismic amblyopia) - ทำให้สมองเลือกรับภาพจากตาเพียงข้างเดียว เพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อน และถ้าสมองเลือกรับภาพจากตาใดตาหนึ่งซ้ำๆ เพียงข้างเดียว ตาอีกข้างอาจจึงเกิดเป็นตาขี้เกียจ

--สายตาสั้น ยาว หรือเอียงต่างกันในตา 2 ข้าง (Anisometropic amblyopia) - เมื่อสายตาสั้น ยาว หรือ เอียง มากในตาข้างเดียวตาข้าง จะเห็นภาพไม่ชัดถ้าไม่ได้รับการใส่แว่นแก้ไข ตาอีกข้างหนึ่งเป็นปกติสามารถมองเห็นได้ชัดเจน สมองจึงเลือกให้เรามองจากตาข้างที่เห็นชัดข้างเดียว จึงทำให้ตาอีกข้างไม่ได้รับการพัฒนา จนเกิดตาขี้เกียจ

--สายตาสั้น ยาว หรือเอียงมากในตาทั้ง 2 ข้าง (Isoametrophic amblyopia) - โดยที่ไม่ได้รับการใส่แว่นแก้ไข ทำให้ไม่มีตาข้างใดเห็นภาพชัดเลย สมองส่วนการมองเห็นจึงได้รับการกระตุ้นน้อย กรณีนี้อาจเป็นตาขี้เกียจในตาทั้ง 2 ข้าง

รู้ได้อย่างไร ว่าลูกเป็นตาขี้เกียจ

คุณหมอณัฐสุชา บอกว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกหลาน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น หนังตาตก จุดขาวที่กระจกตาหรือในตา ตาเข ชอบหยีตามอง เอียงหน้า เอียงคอ ชอบมองใกล้ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ก็ควรพาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่หากลักษณะภายนอกไม่มีความผิดปกติ ลองทดสอบด้วยการปิดตาทีละข้างแล้วเอาของเล่นมาหลอกล่อ หากตาข้างใดข้างหนึ่งของลูกไม่มีปฏิกิริยาต่อของเล่น แสดงว่าตาข้างนั้นของลูกอาจมองเห็นไม่ชัดเจน อาจมีภาวะตาขี้เกียจได้

รักษาอย่างไร ให้กลับมาปกติอีกครั้ง

การรักษาผู้ป่วยตาขี้เกียจ ยิ่งรักษาตอนที่อายุยังน้อย โอกาสกลับมามองเห็นปกติยิ่งมาก เพราะยังมีช่วงเวลาที่สามารถพัฒนาการมองเห็นเป็นไปตามปกติได้ คุณหมอณัฐสุชา บอกว่าหลังจากพาบุตรหลานมาพบแพทย์แล้ว แพทย์จะเป็นคนเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น แก้ไขสาเหตุ ผ่าตัดหนังตาตก ผ่าตัดต้อกระจก ใส่แว่นแก้ไขให้มองเห็นภาพชัดเจน ผ่าตัดตาเข หยอดยาในตาข้างที่เห็นชัดให้มัวลงหรือปิดตาข้างที่เห็นชัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของตาข้างที่มัวกว่า (ตาขี้เกียจ)

ทั้งนี้ หากตรวจพบเมื่ออายุเกิน 9 ปี ก็ไม่ถึงกับสิ้นหวังทีเดียว การรักษาอาจได้ประโยชน์บ้าง เนื่องจากมีรายงานในการรักษาผู้ป่วยอายุ 11-17 ปี แล้วมีอาการดีขึ้นได้

ความร่วมมือของพ่อแม่ คือสิ่งสำคัญ

คุณหมอณัฐสุชาอธิบายว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาตาขี้เกียจในเด็กจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะให้เด็กปิดตาข้างที่เห็นชัด เพื่อใช้ตาข้างที่มัวกว่า เด็กจะงอแงร้องกวนเกือบทุกราย ผู้ปกครองอาจต้องใช้เวลาเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมขณะที่เด็กปิดตา หากปล่อยเด็กปิดตาทิ้งไว้ เด็กมักจะแกะออก แอบดู หรือ นอนหลับซึ่งเสมือนไม่ได้รับการรักษา

หากคุณพ่อคุณแม่คนไหน สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างเคร่งครัด ผลการรักษาก็มักออกมาดี และสายตาของลูกน้อย ก็สามารถใช้งานได้ตามปกติไปตลอดชีวิต

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์