พังผืดใต้ลิ้น” ของเจ้าตัวเล็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด!

พังผืดใต้ลิ้น” ของเจ้าตัวเล็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด!


     พังผืดใต้ลิ้น เป็นอุปสรรคอย่างนึงของการให้นมแม่ เพราะว่าการมีพังผืดใต้ลิ้นทำให้ลูกน้อยดูดนมได้ไม่ดี เต้านมคุณแม่ก็ไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเพียงพอ น้ำนมคุณแม่ก็ไหลไม่ดี ปริมาณน้ำนมจึงไม่เพียงพอแก่ลูกน้อยจนต้องเสริมด้วยนมผง แต่ความจริงแล้ว ปัญหาพังผืดใต้ลิ้นของลูกน้อยสามารถแก้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกสามารถกลับไปดูดกระตุ้นเต้าคุณแม่ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อลูกกลับมาดูดได้ดี ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเพียงพอและไม่จำเป็นต้องเสริมนมผง

รู้จักกับ พังผืดใต้ลิ้น

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ ทารก, คุณแม่, และสิ่งแวดล้อม โดยการการดูดนมแม่ของทารกนั้น จะเริ่มจากการดูดเบาๆ ซึ่งต้องใช้การเคลื่อนไหวของปลายลิ้น (let down reflex) ลิ้นของทารก จะต้องสามารถยก แลบลิ้นออกมา และดึงกลับ เพื่อรีดบนลานนมของคุณแม่ได้ (latching)

ปกติทารกทุกคนจะมีแผ่นเล็กๆ บริเวณโคนลิ้น ที่เรียกว่า พังผืดใต้ลิ้น (lingual frenulum) แต่ในทารกที่มีแผ่นนี้ยึดติดมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะลิ้นติด (tongue-tie หรือ ankyloglossia) ซึ่งพบได้ถึง 16% ของทารกแรกเกิดทั้งหมด แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะภาวะพังผืดใต้ลิ้น นับเป็นปัจจัยทางกายภาพที่สามารถแก้ไขได้ง่ายและเร็วที่สุด ในกรณีที่คุณแม่มีหัวนมแบนหรือบุ๋ม การแก้ไขภาวะลิ้นติดในทารกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดนมได้ถึง 50-60% ส่วนคุณแม่ที่มีหัวนมปกติ การผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นของทารกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดนมทันทีถึง 95%

จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกมีพังผืดใต้ลิ้น

ถ้าคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจมีภาวะลิ้นติด หรือ พังผืดใต้ลิ้น คุณแม่สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกนมแม่ หรือ คลินิกศัลยกรรมเด็ก (กุมารศัลยกรรม) แต่หากยังไม่แน่ใจ ก็สามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากอาการเหล่านี้

พังผืดใต้ลิ้น” ของเจ้าตัวเล็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด!

1.นมแม่มาน้อย
โดยปกติแล้วปริมาณนมแม่จะมากหรือน้อยขึ้นกับความต้องการนมแม่ของลูก ในกรณีคลอดธรรมชาติ ถ้าคุณแม่ไม่มีปัญหาตกเลือดหลังคลอด น้ำนมแม่ควรมาภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กรณีที่ผ่าตัดคลอดน้ำนมก็ควรมาภายใน 72 ชั่วโมง แต่หากลูกเกิดมามีพังผืดใต้ลิ้น ลูกจะดูดนมได้ไม่ดีเท่าที่ควร รีดน้ำนมออกจากเต้าแม่ได้น้อย แม่ก็จะผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจทำให้น้ำนมแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

2.แม่หัวนมแตก (cracked nipple) เจ็บหัวนม ช้ำ หรือเป็นแผล

เนื่องจากลูกน้อยต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการดูด ต้องใช้แรงมาก เพราะไม่สามารถแลบลิ้นออกมาได้ ลูกจึงใช้เหงือกงับหัวนมแม่ ทำให้คุณแม่รู้สึกว่าเจ็บหัวนม เวลาลูกเข้าเต้า จะเหมือนมีอะไรแข็งๆมางับ ถ้าคุณแม่เจ็บมากแล้วยังอดทนให้นมลูกต่อ จะทำให้หัวนมช้ำและแตกเป็นแผลในที่สุด ซึ่งอาจเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้

3.ลูกไม่ยอมดูดเต้า ลูกไม่เข้าเต้า ไม่เอาเต้า ดูดนมช้า (difficult breastfeeding)

ภาวะลิ้นติดทำให้ลูกดูดนมได้ไม่ดี ดูดไม่ได้ (Pop off) ดูดเต้านานแต่ไม่อิ่มท้อง หิวบ่อย ลูกร้องไห้บ่อย ในช่วงกลางคืนคุณแม่ต้องตื่นมาให้นมลูกบ่อยครั้ง ทุกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง (ในเด็กที่ไม่มีพังผืดใต้ลิ้น จะตื่นมากินนม โดยประมาณทุก 2-3 ชั่วโมง)

4.ลูกไม่สามารถแลบปลายลิ้นออกมาพ้นริมฝีปากล่าง

ปลายลิ้นเป็นรูปใบโพธิ์ หรือรูปหัวใจคว่ำ และอาจมีร่องบริเวณกลางลิ้น เนื่องจากพังผืดใต้ลิ้นยึดติดมากเกินไป ทำให้ลูกไม่สามารถกระดกลิ้นไปเลียริมฝีปากบนได้ หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้นไปข้างๆได้

5.ลูกตัวเหลืองหลังคลอด (breast feeding jaundice)

ส่วนมากสาเหตุของภาวะตัวเหลืองหลังคลอด จะเกิดจากภาวะหมู่เลือดของแม่และลูกไม่เข้ากัน (ABO incompatibility) แต่ในทารกบางคนที่ดูดนมแม่ได้น้อยและไม่เพียงพอ จะทำให้ระบบขนส่งของเสียในลำไส้ทำงานได้ไม่เต็มที่ (enterohepatic circulation) จึงอาจเกิดภาวะตัวเหลืองได้ หากพบว่ามีน้ำหนักลดลงมากกว่าปกติหลังกินนมแม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

6.ลูกทำเสียงขณะดูดนมแม่ (googlingหรือ clicky sound)

เป็นเสียงคล้ายกระเดาะลิ้น เนื่องจากลูกไม่สามารถแลบลิ้นเพื่อรีดลานหัวนมได้ ทำให้เต้านมไม่แนบสนิท อาจมีน้ำนมไหลออกจากปากลูกเวลาที่คุณแม่ให้นม และยังอาจทำให้ลูกท้องอืด แหวะนมง่าย และสำลักนมได้ เนื่องจากมีลมแทรกเข้าไปในขณะดูดนม นอกจากนี้อาจสังเกตได้จากการที่ลูกเล่นน้ำลายก่อนอายุ 4 เดือน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการกลืนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

7.ลูกน้ำหนักตัวขึ้นน้อย ตกเกณฑ์

น้ำนมส่วนหลัง หรือ Hind milk อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว Linoleic (Ω6) และ Linolenic (Ω3) ที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้าง myelin sheath ในการพัฒนาสมอง และยังมีกรดไขมันอิ่มตัวชนิดสายโซ่ยาว (long-chain polyunsaturated fatty acid) ที่สำคัญ คือ DHA (Docosahexaenoic acid) (Ω3) และ ARA หรือ AA (Arachindonic acid) (Ω6) การดูดนมได้ไม่เพียงพอ และดูดได้ไม่ถึง Hind milk จะทำให้ทารกน้ำหนักตัวขึ้นน้อย และอิ่มได้ไม่นาน

8.พูดไม่ชัด (speech impediment)

เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เด็กจะเริ่มหัดออกเสียงภาษา "พังผืดใต้ลิ้น" จะทำให้เกิด "ภาวะลิ้นติด" ปลายลิ้นจึงไม่สามารถขยับได้เต็มที่ ทำให้การออกเสียง พยัญชนะที่มีฐานกำเนิดเสียงจากปุ่มเหงือกและฟัน ทำได้ไม่ชัดเจน ได้แก่เสียง /ซ/ /ด/ /ต/ /ท/ /น/ /ร/ /ล/ โดย พยัญชนะ /ร/ จะเห็นสังเกตได้ชัดที่สุด รวมทั้งคำภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วย T, D, Z, S, Th, R, L เช่น lollipop ทำให้เสียบุคลิกภาพ และขาดความมั่นใจ

9.ฟันผุ

มักพบในเด็กโต เนื่องจากจากยึดติดของพังผืดใต้ลิ้น จะทำให้เด็กไม่สามารถตวัดปลายลิ้น เพื่อทำความสะอาดเศษอาหารบริเวณซอกฟันด้านในได้ เศษอาหารที่ค้างร่วมกันการแปรงฟันที่ไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้เกิดฟันผุตามมา

เครดิตแหล่งข้อมูล : โรงพยาบาล พญาไท

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์