พ่อแม่ควรระวัง! ติดเชื้อในกระแสเลือด...โรคที่เด็กเล็กเสี่ยงเสียชีวิตสูง

พ่อแม่ควรระวัง! ติดเชื้อในกระแสเลือด...โรคที่เด็กเล็กเสี่ยงเสียชีวิตสูง


การติดเชื้อในกระแสเลือดสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยช่วงอายุที่ต้องเฝ้าระวังคือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงได้มากกว่าวัยอื่น

"ติดเชื้อในกระแสเลือด" มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง

การติดเชื้อในกระแสเลือดในเด็ก อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา โดยเชื้อโรคมักอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเด็กโดยไม่ก่อโรค เช่น ในโพรงจมูก คอหอย ผิวหนัง แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายอยู่ในสภาวะอ่อนแอก็จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและเกิดการติดเชื้อได้

การติดเชื้อโดยทั่วไปสามารถเกิดการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อทางเดินอาหาร และอาจไม่มีตำแหน่งการติดเชื้อที่ชัดเจน โดยการติดเชื้อดังกล่าวถ้ามีอาการรุนแรง เชื้อโรคก็สามารถผ่านเข้าไปในกระเลือดและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วยได้ โดยการติดเชื้อร่วมกับมีสัญญาณชีพผิดปกติ และเมื่อตรวจเลือดพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวผิดปกติ จะเรียกภาวะนี้ว่า Sepsis ส่วนในกรณีที่เชื้อโรคเข้าไปในกระแสเลือดร่วมด้วยจะเรียกว่า Septicemia

พ่อแม่สังเกตอาการลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

-มีไข้สูงโดยเฉพาะสูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ในเด็กเล็กอาจมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ
-มีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
-เด็กมีอาการซึมลง เล่นน้อยลง ไม่ร่าเริง ตัวลาย ทานอาหารหรือน้ำได้น้อยลง ปัสสาวะออกน้อย

แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อในกระแสเลือด

การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็กอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไตวาย หรือ อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

ร้อยละ 30 ของผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดไม่สามารถจับเชื้อที่เป็นสาเหตุ เมื่อแพทย์วินิจฉัยหรือสงสัยว่าเด็กมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุทางหลอดเลือดดำทันที และตรวจเพาะเชื้อในเลือดเพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อ โดยใช้ระยะเวลาในการเพาะเชื้อประมาณ 48-72 ชั่วโมง หลังจากทราบผลการเพาะเชื้อ แพทย์จะปรับยาฆ่าเชื้อให้เหมาะสมกับเชื้อโรคนั้นๆมากที่สุด

การป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดในเด็ก
-รักษาความสะอาดและสุขภาวะอนามัยของเด็ก เช่น สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก หรือเมื่อหยิบจับสิ่งของ

-หลีกเที่ยงที่ชุมชนที่มีคนหนาแน่น หลีกเลี่ยงผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย

-การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดสามารถการป้องกัน หรือ ลดความรุนแรงโดยการรับวัคซีน เช่น วัคซีนฮิบ(Hib) หรือ วัคซีน ไอ พี ดี (IPD) เป็นต้น

ข้อมูลโดย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเชื้อในเด็ก
ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 โทร 02- 617-2444 ต่อ 3219-3220

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์