การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกี่ยวกับการศึกษานานาชาติในประเทศไทย
การศึกษานานาชาติในประเทศไทยในยุคเริ่มแรกเริ่มต้นจากโรงเรียนจีนที่เปิดสอนภาษาและโรงเรียนของมิชชันนารีที่เปิดสอนนักเรียนที่เป็นบุตรหลานของชาวต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2494ที่ปรึกษาเอกอัคราชฑูตอเมริกันและรองเลขาธิการอีคาเฟ่ได้แสดงความประสงค์จะจัดตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานชาวต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่และพำนักอยู่ในประเทศไทย ในระยะแรกมีโรงเรียนนานาชาติเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นเนื่องจากต้องขออนุมัติการจัดตั้งเป็นรายๆไปโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกที่ได้รับการจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการคือ โรงเรียนสถาน ศึกษานานาชติ ( International School Bangkok) ซึ่งได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2500 จัดการเรียน การสอนโดยใช้หลักสูตรอเมริกัน โดยมีสมาคมการศึกษานานาชาติเป็นเจ้าของ ดำเนินการสอนในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมปลาย มีผู้จัดการ และครูใหญ่เป็นคนไทย เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 กำหนดให้เจ้าของ ครูใหญ่และผู้จัดการต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด(ประยูร มัยโภคา: 2554)
จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ สภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีในด้านต่างๆได้มีผลต่อทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางเป็นโลกที่ไม่มีพรมแดน มีการใช้เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นอย่ารวดเร็ว และภาษาอังกฤษได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงต่างๆซึ่งทำให้ผู้ที่ต้องการความรู้เหล่านั้นมีความจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษทำให้ต้องมีการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองที่ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษดังกล่าวจึงได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมากยิ่งขึ้นและโรงเรียนนานาชาติก็ได้มีการขยายตัวมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติที่ได้ขอจัดตั้งรวมกัน 119 แห่งทั่วประเทศ(ISAT :2015 )โดยใช้หลักสูตรอเมริกัน อังกฤษและอื่นๆในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งได้มีโรงเรียนกวดวิชาที่ให้นักเรียนไปสอบเทียบIGCSEตามศูนย์สอบต่างๆเกิดขึ้นอย่างมากมาย
นักเรียนที่ศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนนานาชาติต่างๆ ถ้าจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศจะต้องไปขอทียบวุฒิชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากสำนักทดสอบทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงจะได้รับเอกสารการเทียบวุฒิชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อนำไปเป็นเอกสารการขอสมัครเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ อย่างไรก็ตามได้มีนักเรียนที่เรียนดีอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้วิธีการทางลัดในการไปเรียนกับโรงเรียนกวดวิชาต่างๆที่มีอยู่ทั่วไปโดยไม่เข้าเรียนอยู่ในระบบโรงเรียนแล้วไปสมัครสอบIGCSEตามศูนย์สอบต่างๆ เช่นนักเรียนที่เรียนตามหลักสูตรอังกฤษก็จะไปขอสมัครสอบ ณ สนามสอบของหลักสูตรอังกฤษ เมื่อสอบได้ IGCSE แล้วก็จะไปดำเนินการขอเทียบวุฒิการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6ที่สำนักทดสอบทางการศึกษา กระทรวง ศึกษาธิการเพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่อไป ซึ่งปรากฎว่านักเรียนที่เรียนจบ IGCSE ส่วนมากอายุประมาณ 15 ปีซึ่งเมื่อเทียบกับนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสายสามัญปกติซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ย 18 ปี ทำให้นักเรียนที่เรียนจบ IGCSE ในระบบโรงเรียนและการสอบเทียบที่ไปเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศมีอายุน้อย ขาดวุฒิภาวะในการเรียนและดูแลตัวเองในการเรียนในมหาวิทยาลัยเมื่อเทียบกับนักเรียนที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสายสามัญปกติ นักเรียนที่จบ IGCSE หลายคนต้องถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันจากสาเหตุการขาดวุฒิภาวะ ที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในขณะที่มีอายุยังน้อย ซึ่งเป็นข้อมูลคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ของสำนักทดสอบทางการศึกษา ท่านหนึ่งที่รับผิดชอบในการขอเทียบวุฒิทางการศึกษาที่เปิดเผยกับผู้เขียน
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ระหว่างเวลา 11.00-12.00 น. ผู้เขียนได้เข้าไปฟัง พณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ซึ่งได้ไปปาถกถาพิเศษในการประชุมของสมาคมโรงเรียนนานาชติที่โรงแรมสยาม เค็มปินสกี้ เรื่อง "นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการกับโรงเรียนนานาชาติ" ซึ่งพณฯท่านได้กล่าวในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่ากระทรวงศึกษาธิการจะไม่ยอมรับนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตร IGCSE ในการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป รวมทั้งนักเรียนที่สอบเทียบIGCSE จากศุนย์สอบต่างๆที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียนก็จะไม่สามารถขอเทียบวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาต่างๆเพื่อให้นักเรียนไปสอบเทียบ IGCSE ก็ควรจะหมดไปด้วยโดยปริยาย พณฯ ท่านได้กล่าวให้ที่ประชุมทราบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 กระทรวงศึกษาธิการโดย พณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาจากหลักสูตรประเทศอังกฤษ(เพิ่มเติมครั้งที่ 1) มีสาระสำคัญโดยสรุปกล่าวคือ ผู้ที่จะขอเทียบวุฒิการศึกษาได้จะต้องมีประกาศนียบัตร IGCSE ,GCSE หรือ GCE ‘O' levelได้ไม่ต่ำกว่า 5 วิชาไม่ซ้ำกันแต่ละวิชาได้เกรดไม่ต่ำกว่า Cและวุฒิประกาศนียบัตร GCE ‘AS' สอบได้ไม่ต่ำกว่า 3 วิชาแต่ละวิชาได้เกรดไม่ต่ำกว่า C หรือ GCE ‘A' level สอบได้ไม่ต่ำกว่า 3 วิชา แต่ละวิชาได้เกรดไม่ต่ำกว่า C โดย GCE ‘AS' สามารถนับรวมกับ GCE ‘A' level ได้ สอบได้ไม่ต่ำกว่า 3 วิชา วิชาในระดับ ‘AS' และ ‘A' ซ้ำกับระดับอื่นได้ยกเว้นระดับ ‘AS' ไม่ซ้ำกับระดับ ‘A' จึงจะสามารถขอเทียบวุฒิการศึกษาจากสำนักทดสอบทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป โดยจะต้องเป็นนักเรียนที่อยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งได้รับการยืนยันจากกองโรงเรียนนโยบายพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในวงการศึกษาตั้งแต่จบการศึกษาในปี 2516และได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษานานาชาติโดยเป็นคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติและเป็นคณะกรรมการพิจารณาการขอจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในครั้งนี้ของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะการให้นักเรียนที่มีอายุเพียง 15 ปีเข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความคิด การวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจต่างๆด้วยตัวเอง ในระหว่างที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นการยากสำหรับนักเรียนที่มีวัยวุฒิเพียง 15 ปี ทำให้หลายๆคนไม่สามารถเรียนจบหลักสูตรได้ หรือบางคนถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัยระหว่างการเรียนก่อให้เกิดการสูญเสียทางด้านทรัพยากรณ์บุคคลและการสูญเสียทางด้านจิตใจของผู้ปกครองเป็นอย่างมากด้วย อย่างไรก็ตามท่านผู้ปกครองยังคงจะต้องติดตามข่าวคราวและความคืบหน้าของเรื่องนี้อีกต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอีกในทางที่ดีขึ้นกับวงการศึกษานานาชาติของประเทศของเราที่ ในหลายประเทศที่ใช้ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ นักเรียนที่จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้นั้นจะต้องจบการศึกษาในระดับ ‘A' Level เท่านั้น ซึ่งการพัฒนาบุคลากรของชาตินั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน ประเทศใดมีประชากรในประเทศที่มีความรู้มากเท่ากับว่าประเทศนั้นมีความก้าวหน้าในทางเสรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้ปกครองหลายๆท่านที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ในโรงเรียนนานาชาติหรือใช้หลักสูตรนานาชาติคงจะมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นและไม่เร่งให้บุตรหลานเรียนจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายเร็วเกินไปในระดับที่ควรจะเป็นเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยอีกต่อไป.