เลือกโรงเรียนแบบไหน ถึงจะเหมาะสำหรับลูก
การเลือกโรงเรียน ดูจะเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่พ่อแม่มักกังวลใจ เพราะมุ่งหวังอยากให้ลูกได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่ดีที่สุด แต่โรงเรียนดีมีคุณภาพมีชื่อเสียงนั้น อาจจะใช่สำหรับพ่อแม่ แต่ลูกจะเรียนรู้อย่างมีความสุข หรือจะการันตีความสำเร็จของลูกในอนาคตหรือไม่ นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และเป็นคุณพ่อลูกสองผู้มีประสบการณ์การวางแผนเรื่องเรียนของลูกมาก่อน จะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คำแนะนำเพื่อเป็นข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจแก่คุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
ปัจจุบันนี้ คุณหมอคิดว่าผู้ปกครองนิยมเลือกโรงเรียนประเภทไหนให้ลูกคะ
จากที่ได้คุยกับพ่อแม่หลาย ๆ คน แต่ละบ้านจะมีแนวคิดต่างกันออกไป ขึ้นกับความคาดหวังในเรื่องอาชีพ และการดำเนินชีวิตของลูก และเป็นไปตามฐานะทางสังคมและการเงินของครอบครัวครับ นอกจากนี้ยังขึ้นกับชั้นเรียนด้วยว่า เลือกโรงเรียนอนุบาล ประถม หรือมัธยม แต่ละช่วงการเรียนครอบครัวจะมีความคิดต่างกัน
หลักในการเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับลูก ควรเป็นอย่างไร
ข้อแรก ต้องดูวิสัยทัศน์ทางการศึกษาของครอบครัวก่อนว่า จะจัดการศึกษาให้ลูกเรียนรู้อะไร อ.นพ.ประเวศ วะสี ได้พูดถึงการศึกษาไว้ว่า ต้องเรียนรู้โลกภายนอก และโลกภายใน โลกภายนอก คือ ความรู้วิชาการ ในโลกกว้าง ส่วนโลกภายใน คือ การเรียนรู้ตัวเอง ก็เกี่ยวกับทัศนคติ และนิสัยใจคอ ขั้นต่อมา ดูโรงเรียน และระบบ ว่าตอนนี้อะไรที่ตอบโจทย์ของเราได้ดี ถ้ามองแบบที่ผมยกตัวอย่าง ก็จะเห็นเลยว่า โรงเรียนอะไร ๆ ก็พอได้ เพราะในการเรียนโลกภายนอกนั้น มีสองส่วน ส่วนแรก เรียนแบบเป็นทางการ คือ เป็นไปตามหลักสูตรในโรงเรียน
- ส่วนที่สอง เรียนแบบไม่เป็นทางการ บางคนเรียกว่า ทักษะชีวิต เช่น การขึ้นรถเมล์ การต่อราคารถสามล้อ ฯลฯ
- สำหรับการเรียนโลกภายใน จะเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ต้องใกล้ชิด และเอาใจใส่ สอน และกำกับลูก จะเห็นว่า โรงเรียนมีส่วนเพียง หนึ่งในสาม เท่านั้น อีกสองส่วน ส่วนหนึ่งจะมาจากบ้าน และอีกส่วนจะมีจากสังคม มองแบบนี้ เรื่องโรงเรียนจะกลายเป็นประเด็นรอง เรื่องที่เป็นประเด็นหลักจะกลายเป็นว่า เราจะสอนอะไรลูก สอนไปเพื่ออะไรมากว่า
ถ้ามองแคบ จะพึ่งโรงเรียนอย่างเดียว จัดการศึกษาให้ลูกได้แค่หนึ่งในสามเท่านั้น อีกสองส่วนกลายเป็นตามบุญตามกรรม ส่วนโรงเรียนที่เหมาะสม คือ อะไร ถ้าตามความคิดที่ผมเสนอ จะเห็นว่า โรงเรียนที่เหมาะสมนั้น เป็นโรงเรียนที่ตอบโจทย์ของครอบครัวได้ แต่ไม่ต้องตอบโจทย์ได้หมด เพราะจะมีการศึกษาอีกชุดหนึ่งที่พ่อแม่เป็นคนจัดการ ไม่มีโรงเรียนไหนที่สอนลูกเราได้ทุกเรื่อง มีหลายเรื่องที่เราต้องสอนเองครับ
การที่ผู้ปกครอง เลือกโรงเรียนให้ลูกโดยไม่ได้คำนึงถึง ความพร้อมของเด็ก จะมีผลเสียมากน้อยแค่ไหนคะ
ข้อนี้จากตัวคำถามเองก็เห็นกันแล้วว่ามีปัญหา แต่ในบางกรณี อาจจะมีข้อยกเว้นอื่น เช่น ถ้าไม่มีคนเลี้ยง หรือมีย่ายายช่วยเลี้ยง แล้วเด็กซนมาก อย่างนี้เอาเข้าเรียนเร็วหน่อย เพื่อป้องกันอันตรายกับผู้สูงอายุ ก็คงต้องยอมรับ เพราะเป็นข้อจำกัดเฉพาะครัวเรือน แต่ถ้าเอาเข้าเรียน เพื่อให้พร้อมก่อน หรือเรียนเร็วกว่า ก็ไม่สมควร
โรงเรียนแต่ละประเภทที่พ่อแม่นิยมเลือกให้ลูกเรียนมีจุดดีจุดด้อยอย่างไรบ้าง
- สาธิต สำหรับสาธิตรุ่นเก่าระบบทันสมัย เด็กค่อนข้างเก่ง ถ้าเทียบกับทั่วไป อาจจะเกิดจากการคัดเลือกทำให้ได้เด็กเก่งและมีความพร้อมเรื่องฐานะอยู่แล้ว ส่วนสาธิตรุ่นใหม่ ซึ่งเปิดตามกระแสตลาด ต้องตรวจสอบวิธีคิดของโรงเรียนให้ดีว่า ได้เอาอะไรที่ทันสมัยเกินไป ยังเป็นแนวคิดที่ไม่มีหลักฐานงานวิจัยว่าดีจริง มาใช้หรือเปล่า เพราะโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยนั้น หน้าที่หนึ่งคือเป็นแล็ปทางการศึกษา ซึ่งโรงเรียนทั่วไปไม่มีหน้าที่นี้
- คาทอลิค เป็นกลุ่มเก่า มีชื่อเสียงมานาน รับรู้กันว่าการเรียนหนักแน่น หลายแห่งว่ากันว่าเข้มที่สุดของระบบ แบบนี้เหมาะกับพ่อแม่ที่อยากให้ลูก “ลำบากเสียบ้าง” แต่ก็ต้องช่วยสนับสนุนทางกายและใจ เพราะเด็ก ๆ อาจจะเสียกำลังใจได้ตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายก็จะอยู่กลาง ๆ
- นานาชาติ เป็นกลุ่มใหม่ ค่าใช้จ่ายสูง ยอดนิยมสำหรับพ่อแม่ที่จบเมืองนอก หรือฐานะดีมาก มีจุดอ่อนคือ เป็นการวางระบบที่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าดีในไทย แต่ลอกแบบมาจากต่างประเทศซึ่งบ้านเขาว่าดีแล้ว ต่างกันที่ในตะวันตก คนที่เข้าเรียนจะมีความหลากหลาย แต่ในไทย มักจะเป็น ไฮโซ ทั้งหมด กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมโดยปริยายในวิถีชีวิตจะเป็นแนว ไฮโซ ๆ หน่อย อาจจะมีปัญหาในบางแห่ง
- 2 ภาษา เป็นแนวที่แปลกอีกแนวหนึ่ง ผมยังไม่พบงานวิจัยว่าดีจริง แต่เป็นกระแส ที่พ่อแม่ที่มีฐานะรองลงมา เลือกแทนอินเตอร์ จุดอ่อนและแข็ง จะคล้าย ๆ กัน
- โรงเรียนทางเลือก เป็นแนวที่ยังไม่มีวิจัยอีกเช่นกัน แต่พัฒนาเองในบ้านเราและไม่มีงานวิจัยประกบ ต่างจากโรงเรียนสาธิต ถ้าสาธิตทำเต็มมาตรฐานเวลาปรับแนวการศึกษา ต้องมีงานวิจัยประกบ เพื่อประเมินว่า แบบใหม่ ๆ นั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก่อนนำมาใช้ทั่วไป บ้านเราไม่ค่อยมีสาธิตที่ทำเต็มรูปแบบนี้ แต่วิ่งตามกระแสตลาด ทำให้เกิดโรงเรียนทางเลือก และสาธิตบางแห่งก็มีลักษณะเป็นทางเลือก ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี บางแห่งก็น่าสนใจ บางแห่งที่ลองกันมาระยะหนึ่งก็เริ่มมีปัญหากับเด็กบ้างแล้ว
- โรงเรียนรัฐบาล เป็นแนวเก่า ๆ ที่เรารู้จักกันดี มีจุดอ่อนเยอะ แต่จุดแข็งก็มี คือ เป็น pragmatic หมายถึง เรียนในสภาพความเป็นจริงตามสังคม ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของโรงเรียนกลุ่มนี้ คือ มีลำดับชั้น โรงเรียนดังและไม่ดัง ซึ่งเป็นไปตามผลงานระยะยาว และคุณภาพก็เป็นไปตามความดังจริง ๆ คือ พอดัง ครูเก่งก็แย่งกันเข้ามาสอน นักเรียนเก่งก็แย่งกันเข้ามาเรียน กลุ่มเพื่อนก็มีทั้งดีทั้งแย่ปนกัน เหมือนในสังคมจริง ๆ
ตอนนี้พบว่าผู้ปกครองสนใจอยากส่งลูกเข้าเรียนที่ รร.สาธิต มาก
เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตจะมีความทันสมัย และเป็นไปตามหลักวิชาการสมัยใหม่ ต่างจากโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป แต่ตอนนี้โรงเรียนอินเตอร์ ก็กำลังขยับมาอยู่ในความนิยมพอ ๆ กัน แต่ต่างกันที่ค่าใช้จ่าย
คุณหมอคิดอย่างไร กรณีที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียน ซึ่งต้องมีการสอบแข่งขัน บางรายถึงกับต้องมีการกวดวิชา
เรื่องกวดวิชานี่ผมว่าขึ้นกับวัยของเด็ก และเป้าหมายที่พ่อแม่คาดหวัง อย่างที่เขียนในหนังสือ “โรงเรียนไหนดีที่สุดในโลก” ถ้าใช้มุมมองทางวิชาการอย่างเดียวก็ต้องว่าไม่เหมาะสม แต่ถ้ามองจากมุมอื่น เช่น มุมของการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต หรือประสบการณ์ร่วมสมัย ในเด็กประถมปลาย หรือมัธยม ผมก็ว่าดีเหมือนกัน เด็ก ๆ จะได้รู้จักลำบากกันบ้าง ถ้าพ่อแม่คิดแบบนี้ เวลาไปส่งลูกก็ไม่ต้องบ่น นั่นบ่นนี่ บอกให้ลูกรู้ว่า ชีวิตทุกยุคสมัยต่างก็มีความลำบากของตัวเอง ให้อดทน มานะ ในการแสวงหาความรู้ การมองด้วยทัศนคติเชิงบวกแบบนี้ การเรียนกวดวิชาก็ไม่น่าจะเป็นโทษอะไร
แต่ถ้าเรียนตอนเล็กไป หรือไปเรียนด้วยทัศนคติทางลบ เช่น เรียนเพื่อให้ชนะคนอื่น ๆ เรียนเพื่อไปเอาเปรียบ หรือเรียนเพราะเห็นว่าระบบของประเทศนี้ล้มเหลว ผมก็ว่าไม่ดี และระบบยังไม่ล้มเหลวหรอก ทั่วโลกเขาก็ปฏิรูปการศึกษากันทั้งนั้น เพราะโลกสมัยนี้ เปลี่ยนแปลงเร็ว ระบบต่าง ๆ ที่เคยทำงานได้ในอดีต ทำงานไม่ทันยุคกันไปทั้งนั้น
ในกรณีที่ลูกผิดหวัง สอบไม่ติด ผู้ปกครองควรมีวิธีปฎิบัติตัว ปลอบหรือพูดคุยกับลูกอย่างไร
สอบไม่ติดก็ไม่ติด ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ต้องให้ความสำคัญกับความผิดหวังของเด็กก่อน เพราะความผิดหวังครั้งแรก หรือครั้งใหญ่ของเด็กนั้น ก็ใหญ่ และทำใจยากเสมอ ทีนี้ถ้าก่อนหน้านั้น พ่อแม่ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้าว่า พ่อแม่ไม่ได้ซีเรียสมาก โดยไม่กดดันทั้งทางตรงและทางอ้อม ความผิดหวังของเด็กก็จะไม่มากนัก กลับกัน ถ้าส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าซีเรียสมาก เด็กก็จะเกร็ง และผิดหวังมาก ธรรมดาคนเราเมื่อผิดหวังก็ต้องการคำปลอบใจ ปลอบอย่างไรก็ได้ขอให้ปลอบก็แล้วกัน ถือว่าเป็นบทเรียนชีวิต ว่าด้วยความผิดหวัง ซึ่งโตขึ้นต้องเจออีกเยอะ จากนั้นทั้งครอบครัวก็หาโรงเรียนกันใหม่
คุณหมอมีความคิดเห็นต่อประเด็นที่มีหลายคนคิดว่าถ้าอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ ต้องเงินหนานั้น มีผลดีและผลเสียต่อเด็กหรือไม่อย่างไร
เรื่องเงินปฏิเสธไม่ได้ครับ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีการลงทุนและค่าใช้จ่าย แต่เรื่องหนาหรือบางนี่ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ทางการศึกษา และการวางแผนของครอบครัว ถ้ามองการศึกษาตามแนว อ.ประเวศ เรื่องเงินหนาหรือไม่ก็เป็นเรื่องรอง
ส่วนคำว่าโรงเรียนดี ๆ นั้นอยู่ที่ใจของพ่อแม่ ว่าเอาอะไรเป็นตัววัด ถ้าโรงเรียนดี หมายถึงยอดนิยม,อินเตอร์,สองภาษา ฯลฯ อย่างนี้ก็ต้องมีเงินหน่อย แต่ถ้าเอาแบบ อ.ประเวศ โรงเรียนดี อาจจะเป็นคนละเรื่องกับค่านิยมตามยุคสมัยไปเลย
ประเด็นที่ผมเองก็ยังคิดไม่ออก คือ ในอนาคต วิถีชีวิตของคนรุ่นลูกเรา จะเป็นอย่างไร ถ้าตอบคำถามนี้ได้ชัด หรือคะเนได้ ก็จะนึกออกว่า ควรจัดการศึกษาให้ลูกอย่างไร แต่ยอมรับว่านึกไม่ออกจริง ๆ ว่าระบบสังคมที่ซับซ้อนขึ้น โลกที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างทั่วถึง และรวดเร็ว เราควรพัฒนาคนในยุคหน้าอย่างไร
ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มนักวิชาการซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมคุ้นเคย เห็นตรงกันว่า นักวิชาการในยุคหน้า ต้องเป็นแบบสหวิชาชีพ คือ สามารถคุยกับนักวิชาการสาขาอื่นรู้เรื่อง เช่น หมอ ต้องรู้คอมพิวเตอร์ คุยกับนักคอมพิวเตอร์ได้ เป็นต้น
ในกลุ่มอื่น เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ พนักงานห้างร้าน จะเป็นอย่างไร เท่าที่คิดออก ผมคิดว่าน่าจะต้องเป็น “มนุษย์เอนกประสงค์” คือ จบอะไรมาไม่สำคัญ ถ้าโชคดี ได้งานตรง ก็ทำงานตามที่จบมาก่อน พอโตอีกหน่อย หรือเกิดโชคไม่ดี ไม่ได้งานตรง มีอะไรที่ต้องหัด ต้องฝึก เพื่อทำหน้าที่ใหม่ ก็ต้องสามารถเรียนรู้และฝึกได้ตลอดเวลา เช่น จบหมอ แต่พอต้องเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องหัดหรือทำได้ หรือจบวิศวะ แต่หางานไม่ได้ เปิดร้านขายกาแฟ หรือไปทำทัวร์ก็ต้องเอา ต้องหัดให้ได้
ไม่รู้ว่าแนวคิดนี้จะ เวิร์ค หรือเปล่า แต่ตัวเองเชื่อว่า ถ้ายังติดความคิดแบบเก่าว่า จบอะไรต้องทำอย่างนั้น(ซึ่งไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่อาจจะไม่เหมาะหรือไม่พอสำหรับยุคอนาคต) จะมีสาขาให้เลือกไม่มากแล้ว ในอนาคต จบอะไรก็ต้องรู้กว้างกว่าที่จบ ทำได้มากกว่าที่เรียน
การเรียนรู้ในความเห็นของผม จึงไม่ใช่เรียนทางเทคนิคแบบสมัยเก่า แต่เป็น การเรียนวิธีเรียน, การเรียนการสังเคราะห์ประสบการณ์ตกผลึกเป็นความรู้ความชำนาญเชิงประยุกต์ ทั้งในการแสวงหาความรู้ใหม่ หรือการสร้างทักษะใหม่ให้ตัวเอง
Cr: rakluke
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น