คุณแม่ทราบไหมว่า สามารถสังเกตสัญญาณเมื่อลูกกลับหัวได้ด้วยตัวเอง อ่านบทความนี้ เราจะบอกวิธีสังเกตสัญญาณเมื่อลูกน้อยกลับหัวให้กับคุณแม่ค่ะ
สัญญาณแบบนี้ ลูกกลับหัวแล้วนะ
10 วิธีสังเกต สัญญาณเมื่อลูกน้อยกลับหัว
คุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนี้
1.ท้องลดต่ำลง
สัญญาณหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนเมื่อลูกน้อยกลับหัวแล้ว คือ สังเกตที่พุงของคุณแม่นั่นเองค่ะ หากท้องลดต่ำลง นั่นคือสัญญาณบอกว่าลูกน้อยกลับหัว เมื่อท้องลดต่ำ ระยะห่างระหว่างมดลูกกับหน้าอกของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่คุณแม่ท้องจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ คุณแม่อาจขอให้คุณพ่อช่วยสังเกตเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่พุงของคุณแม่แทนค่ะ
2.หายใจสะดวกขึ้น
ให้คุณแม่สังเกตที่การหายใจค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าหายใจสะดวกขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ในไตรมาสสาม อาจเป็นเพราะลูกน้อยกลับหัวแล้ว จึงไม่มีแรงกดที่ปอดของคุณแม่
3.กินได้เยอะขึ้น
หลังจากที่ลูกน้อยกลับหัว คุณจะรู้สึกว่ากินง่ายขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้ในไตรมาสสามที่จะรู้สึกว่าการกินอาหารให้หมดจานนั้นช่างยากเย็น ทั้งนี้ก็เพราะว่า ไม่มีแรงกดที่ท้องแล้ว และคุณยังสังเกตได้ว่า อาการแสบร้อนกลางอกหลังอาหารลดลงอีกด้วย
4.เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
คุณแม่สังเกตไหมว่าเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น? ในช่วงไตรมาสสามคุณแม่จะเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น แต่ในช่วงที่ลูกกลับหัว คุณแม่จะเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นอีกค่ะ นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อลูกกลับหัวจะไปเพิ่มแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะนั่นเอง
5.แรงกดที่อุ้งเชิงกรานจะเพิ่มขึ้น
แรงกดที่ปอดและที่ท้องจะลดลงเมื่อลูกกลับหัว แต่จะไปเพิ่มแรงกดที่อุ้งเชิงกรานแทนค่ะ อันที่จริงแรงกดที่เชิงกรานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากตอนนี้กระดูกเชิงกรานต้องรับน้ำหนักทั้งหมด คุณแม่จะรู้สึกเมื่อยมากเมื่อยืนนานๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติหลังจากที่ลูกกลับหัว คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้มากๆ รวมถึงพักเท้าให้ผ่อนคลายสบายขึ้นค่ะ
6.ท้องผูกหรือริดสีดวงทวาร
เมื่อลูกน้อยของคุณกลับหัวจะเพิ่มแรงกดที่กระดูกเชิงกรานและทวารหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกริดสีดวงทวาร คุณแม่ควรดื่มน้ำมากๆ และกินอาหารที่มีเส้นใย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกและริดสีดวงทวาน
7.เจ็บท้องหลอก
เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณแม่จะรู้สึกถึงการหดรัดตัวของมดลูกมากผิดปกติเมื่อลูกกลับหัว คุณแม่จำนวนไม่น้อยที่คิดว่าอาการเช่นนี้หมายถึงสัญญาณคลอด แต่จริงๆ แล้ว การหดตัวนี้เป็นเพียงการเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้เข้ามา การหดตัวของมดลูกยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ปากมดลูกของคุณบางลงก่อนการคลอด ซึ่งคุณแม่จะสังเกตได้ว่าการหดตัวในครั้งนี้จะยังไม่มีความสม่ำเสมอ ต่างจากการเจ็บท้องคลอดจริง ที่มดลูกจะมีการหดตัวอย่างสม่ำเสมอค่ะ
8.ปวดหลัง
เมื่อลูกน้อยกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน คุณแม่ควรสังเกตถึงแรงกดบริเวณหลัง เมื่อกำหนดคลอดใกล้เข้ามา ลูกน้อยจะตัวโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของร่างกายคุณแม่เกิดการเปลี่ยนตำแหน่ง เนื่องจากกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยืดขึ้นและคุณแม่ต้องแอ่นหลังเพื่อให้ร่างกายสมดุล คุณแม่จึงมักมีอาการปวดหลังช่วงล่าง เมื่อลูกน้อยกลับหัวแล้ว
9. ตกขาวเปลี่ยนไป
มูกที่ปิดปากมดลูกจะหลุดออกเมื่อลูกน้อยกลับหัวสู่อุ้งเชิงกราน คุณแม่อาจจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของมูกนี้ ซึ่งอาจจะข้นและเหนียวหนึบกว่าช่วงเวลาอื่นๆ คุณแม่บางคนอาจมีเลือดปนมาในตกขาวได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหลอดเลือดแตกเนื่องจากปากมดลูกบางลงนั่นเอง
10.หุบขาได้ยากขึ้น
อีกสัญญาณหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจน เมื่อแรงกดลงจำนวนมากลงมาอยู่ที่กระดูกเชิงกราน จึงทำให้คุณแม่หุบขาได้ยากขึ้นตามไปด้วย
สัญญาณอันตราย
เมื่อลูกน้อยกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกรานนั่นหมายความว่า ใกล้ถึงเวลาที่คุณแม่จะได้พบหน้าลูกน้อยแล้ว คุณแม่ควรจับตาดูความเคลื่อนไหวของลูกน้อยเมื่อเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการ นับลูกดิ้นภายใน 1 ชั่วโมงควรรู้สึกว่าลูกเตะหรือดิ้น 10 ครั้ง ถ้าคุณแม่สังเกตว่าลูกเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
หากสังเกตพบว่าลูกน้อยกลับหัวก่อนกำหนดคลอด 4 สัปดาห์ หรือไม่มีสัญญาณใกล้คลอดใดๆ เกิดขึ้น คุณแม่ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะสังเกตเห็นมูกสีน้ำตาลหรือชมพูเมื่อลูกกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน แต่หากพบว่าเป็นเลือดสดมากกว่าที่จะเป็นมูกเลือด ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
สัญญาณเมื่อลูกน้อยกลับหัวของคุณแม่แต่ละท่านเป็นอย่างไร ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่คอมเมนต์ด้านล่างค่ะ