โฟลิก กับ คนท้อง
การขาดสารอาหาร โฟเลต เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความพิการแต่กำเนิดของระบบประสาท โดย นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ สูตินรีเเพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และ ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช อธิบายว่า มนุษย์กบ หรือ Anencephaly ถือเป็นโรคที่เกิดจาก ท่อระบบประสาทผิดปกติ (Neural Tube Defect) ชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงมากที่สุดและพบได้บ่อยที่สุด พบได้ประมาณ 1.2-1.7 ต่อ 1,000 ของการคลอด และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (อัตราส่วน 4:1)
คุณแม่สามารถป้องกันภาวะทารกพิการ ไม่มีสมองและกะโหลกศีรษะ รวมถึงความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ รศ.ธรา วิริยะพานิช สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า คนท้องควรได้รับมากกว่าคนปกติ คนปกติควรได้รับวันละ 4๐๐ ไมโครกรัม/วัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ 6๐๐ ไมโครกรัม/วัน
สำหรับผู้ที่มีความพยายามที่จะตั้งครรภ์หรือผู้ที่อาจจะตั้งครรภ์ ควรเริ่มทานกรดโฟลิกเสริมก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1-3 เดือน ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิดได้มากกว่า 50% ไม่ควรรอให้ตั้งครรภ์ก่อนแล้วค่อยเริ่มรับประทานโฟลิก เนื่องจากกว่าผู้หญิงจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ก็อาจผ่านระยะก่อรูปร่างของสมองและไขสันหลังไปเสียแล้ว
ราวๆ สัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากที่มีการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ ในระยะนี้ตัวอ่อนจะมีเนื้อเยื่อซึ่งแบ่งออกเป็นสามชั้น เนื้อเยื่อชั้นนอกจะแบ่งตัวเพื่อสร้างระบบประสาทและสมอง โดยปกติแล้วเนื้อเยื่อชั้นนอกนี้จะแบ่งเซลล์ยกตัวขึ้นเพื่อม้วนกลับสร้างให้เป็นท่อระบบประสาท (Neural Tube) ขึ้นมาก่อน ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นกระดูกสันหลังและไขสันหลังต่อไปบริเวณส่วนปลายของท่อนี้จะต้องปิดเข้าหากันเพื่อพัฒนาเป็นศีรษะและก็จะมีการสร้างสมองและกะโหลกศีรษะต่อไป แต่ในกรณีของมนุษย์กบ หรือ Anencephaly ส่วนปลายของท่อนี้ไม่ปิดเข้าหากัน จึงไม่สามารถพัฒนาการสร้างส่วนของกะโหลกศีรษะและสมองที่สมบูรณ์ได้
บทความแนะนำ รู้จักภาวะทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ และการป้องกันในแม่ท้อง
กรดโฟลิกจึงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยในปลายท่อปิดเข้าหากัน การที่คนท้องขาดกรดโฟลิค และวิตามินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงนี้ส่งผลให้การพัฒนาสมองของทารกไม่สมบูรณ์