1. เราจะสงสัยว่าทารกในครรภ์ตัวเล็ก ถ้า...
- น้ำหนักคุณแม่ ไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ
สำหรับการตั้งครรภ์ทารกคนเดียว น้ำหนักแม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังอายุครรภ์ 3 เดือน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 0.2-0.5 กิโลกรัม แต่ในช่วง 3 เดือนแรก เนื่องจากมีอาการแพ้ท้อง ดังนั้น น้ำหนักอาจลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นได้ ไม่ต้องกังวล
- การวัดความสูงของมดลูกโดยแพทย์เมื่อมาฝากครรภ์ แล้วมีขนาดน้อยกว่าปกติ
ขนาดมดลูกที่สังเกตได้ง่าย คือช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน หรือ 20 สัปดาห์ ซึ่งจะมีขนาดเท่ากับระดับสะดือของคุณแม่ แต่อายุครรภ์หลังจากนั้นแพทย์จะทำการวัด โดยใช้สายวัดซึ่งความสูงของมดลูกหน่วยเป็นเซนติเมตรจะมีค่าเท่ากับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ เช่น วัดความสูงของมดลูกได้ 28 เซนติเมตร ก็จะเท่ากับขนาดมดลูกที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์
2. เราจะยืนยันได้อย่างไรว่าทารกในครรภ์ตัวเล็กหรือไม่
- เนื่องจากทารกที่ตัวเล็กกว่าปกติ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ไม่แข็งแรงและอาจจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นคุณหมอที่ดูแลจะทำการตรวจทารกด้วยอัลตราซาวน์ เพื่อยืนยันว่าทารกตัวเล็กจริงหรือไม่ โดยจะใช้เกณฑ์น้ำหนักตัวทารกที่น้อยว่า 10% เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวทารกปกติในอายุครรภ์นั้นๆ
- ถ้าตรวจพบว่าทารกตัวเล็กจริง คุณหมอจะทำการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการดูแลรักษาต่อไป
3. สาเหตุ "ทารกตัวเล็ก" ไม่ใช่ "ทารกที่ผิดปกติ" เสมอไป
- ทารกตัวเล็ก สามารถเป็นทารกที่ปกติ มีการพัฒานาของร่างกายและระบบประสาทและสมองปกติ แต่มีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าปกติได้ สาเหตุหลัก จะเป็นเรื่องของพันธุกรรมพ่อแม่ ที่มีขนาดร่างกายที่เล็กเหมือนกัน แต่ที่คุณหมอและพ่อแม่จะกังวลคือ ทารกตัวเล็ก เป็นทารกที่ผิดปกติ และจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกเอง ซึ่งมีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น
สาเหตุจากแม่: แม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน โรคไต โรคเบาหวาน มีการใช้ยาบางอย่าง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
สาเหตุจากลูก: ลูกมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ มีความพิการแต่กำเนิด มีการติดเชื้อในครรภ์ ทารกในภาวะครรภ์แฝด
สาเหตุจากรก: ภาวะรกเสื่อมก่อนกำหนด รกเกาะตำเหน่งที่ผิดปกติ มีการติดเชื้อที่รก
4. การดูแลรักษา
การดูแลรักษาที่สำคัญ คือ "การส่งเสริมสุขภาพทารกให้แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ และคลอดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม" ไม่ใช่เน้นการเพิ่มน้ำหนักตัวเด็กให้กลับมาเป็นปกติ