คลายปัญหา เจ็บท้องคลอดหรือแค่เจ็บเตือน
ยิ่งใกล้ครบกำหนดคลอดเท่าไร คุณแม่ก็ยิ่งตื่นเต้นเท่านั้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครรภ์แรก และเพราะความรู้สึกนี้นี่เองที่ทำให้คุณแม่มีอาการเหมือนๆจะเจ็บท้องอยู่บ่อยครั้ง และคุณแม่หลายๆท่านรู้สึกว่าจะคลอดแน่ๆแล้วอยู่เรื่อย มาดูกันให้แน่ใจดีกว่าค่ะว่า อาการอย่างไหนกันแน่ที่บ่งบอกว่าคุณแม่จะคลอดจริงๆ หรืออาการแบบไหนที่ทำให้คุณแม่รู้ว่าใกล้คลอด
อาการเจ็บเตือน ลักษณะของการเจ็บจะเป็นแบบเจ็บเสียดๆ เจ็บห่างๆ หน้าท้องแข็ง แต่ไม่มีอะไรออกจากช่องคลอด นอกจากนี้อาจมีความรู้สึกว่าเจ็บ ตึงบริเวณท้องทั้งสองด้านหรือที่เอว รู้สึกเหมือนอยากถ่ายปัสสาวะ แต่ก็ไม่ใช่ ระยะเวลาและความรุนแรงจะไม่สม่ำเสมอ จะเจ็บเป็นช่วงสั้นๆ ถี่บ้างห่างบ้าง และมักเจ็บบริเวณหัวเหน่า มากกว่าส่วนบนของมดลูก ซึ่งการอาบน้ำอุ่นจัดๆและการลุกเดิน จะช่วยลดอาการเจ็บเตือนที่เกิดขึ้นเป็นพักๆนี้ได้
อาการเจ็บจริง จะต่างจากการเจ็บเตือนตรงที่คุณแม่จะรู้สึกปวดหลัง ปวดหน้าท้อง ท้องแข็งเป็นพักๆ และถี่ขึ้นเรื่อยๆ อาการปวดร้าวค่อยๆเพิ่มขึ้นที่ก้นกบและหัวเหน่า แล้วร้าวมาที่หน้าขาทั้ง 2 ข้าง หรือเจ็บบริเวณรอบเอว แล้วร้าวมาทางหน้าท้อง การเจ็บจริงจะเจ็บเป็นจังหวะสัมพันธ์กับการหดตัวของมดลูก
ระยะเวลาการเจ็บปวดจะยาวนานขึ้นจากประมาณ 15 วินาทีต่อครั้งในระยะแรกๆ จะเพิ่มเป็นจนครั้งละ 50-60 วินาที และเจ็บทุกๆ 4-5 นาที และอาจจะมีมูกเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดด้วย ซึ่งมูกเลือดนี้จะมีลักษณะต่างจากน้ำจากอาการน้ำเดิน เพราะเกิดจากการที่ปากมดลูกเริ่มขยายตัว จนทำให้ก้อนมูกที่บริเวณปากมดลูก หลุดออกมาพร้อมเลือด ปริมาณของมูกเลือดที่ออกมานี้จะใกล้เคียงกับเลือดประจำเดือน
ส่วนอาการน้ำเดินนั้น น้ำอาจไหลลงมาตามขา เปียกจนชุ่มถึงพื้น หรือออกมาแบบปัสสาวะแต่ไม่หยุดสักที ซึ่งต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะแม้ไม่มีอาการเจ็บท้อง แต่หากคุณแม่มีน้ำเดินแล้วก็มักจะคลอดภายใน 24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงแล้วยังไม่คลอดเองตามธรรมชาติ อาจจะต้องทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกค่ะ
การผ่อนคลายอาการเจ็บท้องคลอด
ในระยะที่หนึ่งของการคลอด คุณแม่สามารถจะคลายความเจ็บปวดได้โดยใช้เทคนิคการหายใจ แต่เมื่อคุณแม่ไปถึงโรงพยาบาลแล้ว และมดลูกเริ่มหดรัดตัวรุนแรงขึ้น คุณแม่อาจต้องอาศัยการลดความเจ็บปวดด้วยวิธีอื่น เช่น ยาแก้ปวดชนิดสูดดม หรือทางเลือกอื่นๆ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ในระยะที่สองของการคลอด การหดรัดตัวของมดลูกจะอยู่ในระดับที่คุณแม่สามารถทนได้และมีแรงเบ่งเพื่อคลอดทารกออกมาค่ะ
ที่มา : Mumhelper
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!