เข้าสู่การท้องไตรมาส 3 ใกล้ความจริงขึ้นมาทุกที ช่วงเวลาตั้งครรภ์อาจจะไม่ราบรื่นนักโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 8 จนถึงคลอด เรามาดูกันซิว่า 5 อาการยอดฮิตช่วงท้องไตรมาส 3 มีอะไรบ้าง
1.อาการบวมระหว่างตั้งครรภ์ช่วงเดือนที่ 8 และ 9
อาการบวมเป็นปฏิกิริยาทางธรรมชาติที่ร่างกายของเรากักเก็บน้ำในเนื้อเยื่อทำให้มีปริมาณของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้น อีกทั้งสารเคมีในกระแสเลือดที่เปลี่ยนไปก็ทำให้ร่างกายดูดซึมของเหลวในปริมาณที่มากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นก็ทำให้กระดูกเชิงกรานกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ที่ชื่อว่าเวนาคาวา (vena cava) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดจากบริเวณหลังช่วงล่างกลับไปที่หัวใจได้สะดวก
โดยส่วนใหญ่เราจะรู้สึกบวมที่บริเวณข้อเท้าและเท้าหากต้องยืนหรือนั่งเป็นระยะเวลานาน บางคนอาจจะรู้สึกว่าแหวนที่สวมตามนิ้วมือคับ หรือมีอาการหน้าบวมร่วมด้วย
อาการบวมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มักเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างวัน เมื่ออากาศเปลี่ยนทั้งร้อนและเย็น อาการบวมก็จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวยิ่งจะทำให้คุณบวมได้มากขึ้น ดิฉันจำได้ว่าอาการเท้าบวมของตัวเองเกิดขึ้นในช่วงตั้งท้องเดือนที่ 8 พอดี จากนั้นมือบวมและชาก็ตามมา และมีอาการหน้าบวมหลังจากตื่นนอน
แม้ว่าอาการบวมอาจทำให้คุณรู้สึกกังวล แต่โดยทั่วไปแล้วอาการบวมระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะไม่มีอันตรายต่อคุณและลูกน้อย แต่หากบวมมากเกินไป บางครั้งอาจเป็นเพราะความดันเลือดสูงขึ้น จึงควรหมั่นสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์หากคุณรู้สึกกังวลหรือสังเกตว่าอาการบวมของคุณผิดปกติ
วิธีลดอาการบวม
การนอนตะแคงสามารถช่วยลดน้ำหนักที่กดทับกระดูกสันหลังได้ แต่เมื่อเส้นเลือดดำใหญ่ที่ชื่อว่าเวนาคาวา (vena cava) อยู่ทางด้านขวาของร่างกาย ดังนั้นการนอนตะแคงซ้ายจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดค่ะ
ยกขาสูงทุกครั้งที่ทำได้ หากอยู่ที่ทำงานก็ควรหาเก้าอี้ หรือกล่องอะไรก็ได้มาหนุนให้ขาสูงขึ้น
หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง
เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นตลอดจนยืดขาโดยให้ส้นเท้าแตะพื้นก่อน แล้วค่อย ๆ เหยียดปลายเท้าเพื่อให้กล้ามเนื้อน่องผ่อนคลาย จากนั้นก็ขยับนิ้วเท้าไปมา
ไม่ควรใส่ถุงเท้าที่รัดแน่น
ควรเลือกรองเท้าที่สวมใส่สบายและรองรับการขยายตัวของเท้า
ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้ร่างกายเก็บน้ำน้อยลง
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มซึ่งจะทำให้คุณขาดน้ำได้
ใช้ผ้านวม ผ้าห่ม หรือหมอนใบใหญ่วางซ้อนกันที่ปลายเตียงเพื่อหนุนให้เท้าสูงขึ้น เวลานอนพลิกตัวปลายเท้าก็ยังคงอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (แบบเบา ๆ ) เช่น เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่
ไม่ต้องกังวลไปนะคะ อาการบวมระหว่างตั้งครรภ์นี้จะหายไปเองหลังจากคลอดลูกค่ะ
2.การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
โรค Carpal Tunnel Syndrome หรือชื่อย่อคือ CTS เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานในออฟฟิส ที่ต้องใช้มือและข้อมือในการทำงานมาก เช่น โปรแกมเมอร์ แต่ก็พบบ่อยในกรณีของคนท้องเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมน การที่ร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการสะสมของน้ำในร่างกายจำนวนมากจนมีอาการการบวมน้ำ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะมีน้ำในร่างกายสูงที่สุด จนช่องหรืออุโมงค์ที่ข้อมือแคบลง ทำให้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณมือถูกกดทับ จนเนื้อเยื่อบวมจนรู้สึกชา เจ็บ และปวดที่บริเวณปลายนิ้ว หรืออาจจะเป็นทั้งมือได้ สำหรับดิฉันมีอาการมือขวาชาทั้งมือ ส่วนนิ้วกลางมือซ้ายมีอาการขัด เวลางอแล้วรู้สึกเจ็บ ไม่สามารถคลายออกเองได้ ต้องใช้นิ้วอื่น ๆ ที่มือขวาช่วงง้างออกมา สำหรับบางรายอาการชาอาจจะมาถึงแขนและต้นแขน รายที่มีอาการรุนแรงอาจจะรู้สึกล้า และไม่มีแรง หยิบอะไรก็หลุดมือไปหมด แต่คุณหมอบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะเมื่อหลังคลอด พออาการบวมลดลง ช่องที่บริเวณข้อมือก็จะกลับมากว้างเหมือนเดิม อาการชาก็จะหายไปเองค่ะ
วิธีลดอาการปวด
ก่อนอื่นคุณควรหาสาเหตุก่อนว่ากิจกรรมอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกชา ปวดตามมือ บางครั้งคุณสามารถป้องกันได้ เช่น ถ้าคุณต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ก็ควรหาที่รองข้อมือเพื่อไม่ให้ข้อมืองอ หรืออาจจะใช้สายรัดช่วยรัดพยุงข้อมือ คุณควรพักเป็นระยะเพื่อยืดข้อมือด้วยนะคะ
แต่ถ้าหากเกิดจากภาวะการตั้งครรภ์แล้วละก็ คุณควรแช่มือในน้ำอุ่น เวลานอนก็พยายามหลีกเลี่ยงการนอนทับมือ ให้วางมือไว้บนหมอนเพื่อหลีกเลี่ยงการกดทับ แต่หากตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการชาและปวดก็สะบัดมือจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้การฝึกโยคะสามารถช่วยบรรเทาอาการนี้ได้ เนื่องจากเป็นการฝึกมือให้แข็งแรงขึ้น