เรื่องของสุขภาพ กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ยังมีลูกน้อยในครรภ์ที่ติดสอบห้อยตาม จะทานอาหารอะไรก็ต้องนึกถึงลูกน้อย จะวางอิริยาบถไหน ก็ต้องนึกถึงลูกน้อย ซึ่งแม้ว่ามันจะเป็นช่วงยากลำบากช่วงหนึ่งของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่ แต่นี่ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของผู้หญิงอย่างเราๆ เช่นกัน
ในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์นั้น หลายคนมีความกังวลว่าถ้าเราเดินเหิน หรือ ออกกำลังกายสักหน่อย จะทำให้ลูกน้อยกระเทือนไปด้วยไหม คำตอบคือทำได้ ไม่เป็นไร แต่ต้องรู้หลักตั้งครรภ์ ออกกำลังกายได้หรือไม่
การวิจัยของ ดร. โรเบิร์ต วอลช์นักวิจัยชาวนอร์เวย์เปิดเผยว่า การออกกำลังกายของแม่ตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักเกินมาตรฐานได้ถึง 28% เมื่อเทียบกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ออกกำลังกายคนอื่น ๆ
ดร.โรเบิร์ตระบุอีกว่า การออกกำลังกายก็เป็นอีกสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในยุคนี้รับมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดปฏิบัติเพียงเพราะเหตุผลว่าตั้งครรภ์ เพียงแต่ว่าในระหว่างการออกกำลังกาย คุณแม่ควรมีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรให้เกิน 120ครั้งต่อนาที นอกจากนั้นกีฬาที่อาจเกิดการปะทะ หรือเกิดแรงกระแทก ก็ควรหลีกเลี่ยง แต่ควรหันไปออกกำลังกาย ด้วยการเต้นแอโรบิคท่าง่าย ๆ หรือการเดินช้า ๆ จะเหมาะสมกว่า
และในการออกกำลังกายต้องไม่อาศัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่าง ๆ มากเกินไปเนื่องจากอาจทำให้คุณแม่เกิดอาการบาดเจ็บได้
โยคะ กับ การออกกำลังกายของคุณแม่ตั้งครรภ์
การออกกำลังกายมีหลายหลาย แต่สิ่งที่ควรตระหนักในการเลือกการออกกำลังกายต้องดูให้เหมาะสมกับสุขภาพของคุณแม่แต่ละท่านด้วย โยคะเป็นการออกกำลังกายอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากคุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่าน อาจเพราะได้ทั้งเรื่องสุขภาพและสมาธิขณะฝึกด้วย
ข้อดีของการฝึกโยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คือ
1. ช่วยเรื่องสุขภาพ และสมาธิ
2. ช่วยในเรื่องการกำหนดลมหายใจเข้าออกที่ถูกต้องเพื่อจะได้นำออกซิเจนบริสุทธิ์ส่งไปถึงทารกในครรภ์
3. เป็นการฝึกการหายใจเพื่อเตรียมตัวในการคลอดและเกิดเป็นพลังที่นำไปใช้ในระหว่างการคลอดให้เป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากนี้ ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะมีความยืดหยุ่นสูง จึงเหมาะกับการฝึกโยคะเพราะร่างกายคุณแม่จะผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งขึ้น เรียกว่า Hormone Relaxing เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กระดูก ข้อต่อต่างๆ ในร่างกายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้อุ้งเชิงกรานขยับขยายเพื่อรองรับการเจริญเติบโตและการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์
แต่ทั้งนี้ การฝึกสำหรับคุณแม่จะต้องไม่ฝึกในท่าที่มีความเสี่ยงและกระทบกระเทือนต่อการตั้งครรภ์ ไม่เช่นนั้นความยืดหยุ่นดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้ง่าย ดังนั้นหากคุณแม่ฝึกเองที่บ้าน ก็อาจจะต้องได้รับการปรับท่าฝึกให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย