อัลตร้าซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่?

อัลตร้าซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่?


คุณแม่ทุกคนต้องมีความรู้สึกอยากแอบดูลูกในท้องสักครั้ง (หรือหลายครั้ง) บางคนอยากรู้ว่าลูกแข็งแรงไหม ร่างกายสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ บางคนก็อยากรู้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ บางคนก็คิดถึงอยากเห็นหน้าให้ชื่นใจ แต่คุณแม่บางคนก็ยังแอบมีความกังวลว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์นี้จะมีผลเสียหรืออันตรายกับลูกหรือไม่ การตรวจอัลตร้าซาวด์บ่อยๆจะมีรังสีแอลฟาแกมม่าหรือคลื่นแม่เหล็กส่งผลกระทบให้ลูกพิการหรือปัญญาอ่อนในอนาคตหรือไม่

วันนี้หมอจะช่วยตอบข้อสงสัยให้คุณแม่มั่นใจว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์มีประโยชน์ต่อการดูแลการตั้งครรภ์และมีความปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูก

การตรวจอัลตร้าซาวด์คืออะไร?
การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) หรือ "การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง" เป็นการตรวจที่ใช้ "คลื่นเสียง" ในการสร้างภาพลูกในท้องคุณแม่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะปล่อยคลื่นเสียงผ่านร่างกายคุณแม่ คลื่นเสียงนี้จะสะท้อนกับกล้ามเนื้อ, ไขมัน, อวัยวะในช่องท้อง และร่างกายของทารก, รก, น้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกของคุณแม่ แล้วสะท้อนกลับมายังอุปกรณ์ตรวจรับเพื่อแปลงเป็นภาพทางหน้าจออีกครั้ง

คุณแม่สามารถนึกถึงหลักการเดียวกันกับคลื่นเสียงที่ปลาโลมาหรือค้างคาวปล่อยออกไปและสะท้อนกลับมาแล้วแปลงเป็นภาพในสมองเพื่อหาตำแหน่งสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว

ทำไมคุณแม่ต้องตรวจอัลตร้าซาวด์?
วัตถุประสงค์หลักของการตรวจอัลตร้าซาวด์ คือการตรวจประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ โดยสามารถแยกย่อยประโยชน์ของการตรวจได้ตามช่วงอายุครรภ์ ดังตารางต่อไปนี้

ตารางสรุปการตรวจอัลตร้าซาวด์ระหว่างการตั้งครรภ์

อัลตร้าซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่?

คุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่อายุครรภ์เท่าไร?
คุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ โดยสูติแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (maternal-fetal medicine, MFM) เพื่อตรวจหาความพิการในทารก (anomaly scan) และติดตามพัฒนาการของทารก ปัจจุบันแนะนำว่าคุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกไตรมาส

สำหรับคุณแม่บางท่านที่มีภาวะแทรกซ้อนผิดปกติ เช่น ทารกน้ำหนักตัวน้อย, น้ำคร่ำน้อย, ครรภ์เป็นพิษ, เบาหวาน, ครรภ์แฝด เป็นต้น จะได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่ถี่กว่าปกติและตรวจละเอียดมากขึ้น บางครั้งอาจต้องได้รับการตรวจทุกเดือน, ทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน

อัลตร้าซาวด์บ่อยๆอันตรายหรือไม่?
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่พบว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ทั้งในเรื่องของความพิการแต่กำเนิด, พัฒนาการและการเจริญเติบโต, โรคมะเร็ง, โรคจิตเภท หรือความผิดปกติอื่นภายหลังการคลอด คุณแม่จึงสามารถมั่นใจในการตรวจอัลตร้าซาวด์ได้

การตรวจอัลตร้าซาวด์สามารถตรวจความพิการได้ทุกอย่างหรือไม่?
แม้การตรวจอัลตร้าซาวด์จะไม่สามารถเห็นความผิดปกติหรือความพิการทุกอย่างได้ แต่ด้วยความสามารถและประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยส่วนใหญ่จะสามารถตรวจความผิดปกติได้มากถึง 80-90%

ข้อจำกัดที่ทำให้การตรวจอัลตร้าซาวด์ไม่สามารถพบความผิดปกติได้ ประกอบด้วย การระบุชนิดของอวัยวะที่เกิดความผิดปกติ เช่น มือ-เท้า, แขน-ขา, ทางเดินหายใจ จะตรวจพบได้ยากมาก, ท่าของทารกขณะการตรวจ (นอนคว่ำ, ปิดหน้า, หนีบขา), คุณแม่มีรูปร่างอ้วน หรือ ความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นภายหลังหรือมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่ทำไปในช่วงแรก คุณแม่จึงควรรับตรวจอัลตร้าซาวน์อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง (ทุก 3 เดือน)

ตารางถัดไปจะแสดงค่าประมาณความแม่นยำในการตรวจพบความพิการในแต่ละอวัยวะ
ความแม่นยำในการตรวจพบความพิการของทารก

อัลตร้าซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่?

นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์
สูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
โรงพยาบาลพญาไท 3

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์