“กรมอนามัย” เตือนคนท้องฟันผุ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด!!
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาโรคเหงือกอักเสบพบได้บ่อยใน หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้เหงือกและเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ ที่รองรับฟันอ่อนแอ อาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อย และการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดีจะทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดโรคฟันผุได้ เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและสุขภาพทั่วไปต่อตัวแม่และลูกที่จะเกิดมา หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขควรได้รับการตรวจฟันเพื่อทราบสภาวะช่องปากของตนเอง และรับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและลูก ฝึกทักษะการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟันที่ถูกวิธี และหากพบว่ามีปัญหาโรคในช่องปากก็ควรได้รับการรักษาตามความจำเป็นในช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 4 - 6 หรือได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป และที่สำคัญต้องปรับทัศนคติของแม่ให้เห็นความจำเป็นของการดูแลสุขภาพช่องปาก ลดการถ่ายทอดเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุฟันผุจากแม่สู่ลูกเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของลูกต่อไป
"ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยผลการตรวจสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์ของสำนักทันตสาธารณสุข พบว่า ร้อยละ 90.3 มีฟันผุ โดยค่าเฉลี่ยฟันผุถอนอุด 6.37 ซี่ต่อคน และร้อยละ 91.8 จำเป็นต้องได้รับการขูดหินน้ำลาย แม่ที่มีฟันผุหลายซี่จะมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากมาก มีโอกาสสูงที่จะถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคฟันผุ นอกจากนี้ มีการศึกษาที่พบว่าโรคปริทันต์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดและเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้ ดังนั้นการได้รับบริการขูดหินน้ำลาย และทำความสะอาดช่องปากจะช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบ และการอุดฟันช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากหญิงตั้งครรภ์" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
เครดิตแหล่งข้อมูล : pptvhd36