คนท้องต้องระวัง ! ไวรัสซิการะบาดหนัก อาจทำให้ลูกสมองผิดปกติได้
ไวรัสซิการะบาดหนัก ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและบางพื้นที่อาจมีฝนตก ส่งผลให้เกิดแหล่งน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ที่อาจทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อ ไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ไวรัสซิกา คืออะไร อันตรายไหม
การติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการถูกยุงที่ติดเชื้อกัด มักจะมีอาการไข้ต่ำ ออกผื่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อ การติดเชื้อไวรัสซิกามักจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจส่งผลที่ร้ายแรงต่อหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรืออาจให้กำเนิดทารกที่มีศีรษะขนาดเล็กกว่าปกติ
ไวรัสซิกาเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเฟลวิไวรัส (Flavivirus) ตระกูลเดียวกับเชื้อไข้เลือดออกหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสเหล่านี้มียุงลาย (Aedes) เป็นพาหะนำโรค ทำให้มีการติดต่อได้ง่าย สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญมันสามารถแพร่เชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย
อาการของผู้ที่ป่วยเป็นไวรัสซิกา
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หรือมีไข้เล็กน้อย อยู่ประมาณ 2-7 วัน แต่ไม่มีอาการร้ายแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งยังมีอาการร่วมดังต่อไปนี้
1.มีผื่นแดง (Maculopapular) ตามลำตัว แขน และขา
2.อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
3.ตาแดง บริเวณดวงตามีอาการอักเสบของเยื่อบุตา
4.อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
ไวรัสซิกาอันตรายกับคนท้องอย่างไร
กรณีที่แม่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่อาจส่งผ่านไวรัสไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเสี่ยงต่อภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) และโรคทางสมองที่ร้ายแรง เนื่องจากสมองของทารกหยุดพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์ หรือหยุดพัฒนาเมื่อคลอด จึงทำให้ศีรษะมีขนาดเล็กลงตามสมองไปด้วย ทารกที่เกิดภาวะนี้ขึ้นจะมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน มีปัญหาทางด้านการได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการรับประทานอาหาร ฯลฯ
สำหรับโรคนี้ ยังไม่มีวัคซีนหรือยาในการรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการของผู้ป่วยที่พบเป็นหลักค่ะ สำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่าตัวองเป็นหรือไม่เวลาเกิดอาการไข้หรือปวดหัว ให้ทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น ไม่ควรทานยาแอสไพริน ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เป็นอันเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น
แม่ให้นมเป็นไวรัสซิกาลูกน้อยจะติดไหม
ในกรณีที่แม่อยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร ทารกสามารถรับนมแม่ได้ตามปกติ เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อทารก อีกทั้งยังไม่พบข้อมูลมากพอยืนยันเรื่องการแพร่เชื้อชนิดนี้ผ่านทางการให้นมแม่ค่ะ
ความแตกต่างของโรคไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา
โรคไวรัสซิกา ยังไม่พบอาการที่ชัดเจน แต่มักมีผื่นที่ผิวหนัง และบางส่วนมีเยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
โรคไข้เลือดออก มีไข้สูง อาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรง และอาการแทรกซ้อนเมื่อไข้เริ่มลด เช่น มีเลือดออกบริเวณตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
โรคชิคุนกุนยา มีไข้สูง อาการปวดข้ออย่างรุนแรง ปวดตามมือ เท้า หัวเข่า และหลัง จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติได้
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ พยายามป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด สวมผ้าสีอ่อนหรือเนื้อหนา ปิดประตู หรือหน้าต่างบ้านให้มิดชิด หรือใช้การกางมุ้ง หรือใช้ม่านกันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณที่อยู่อาศัยและบริเวณรอบบ้านค่ะ