แพทย์หญิง สุรีรัตน์ พงศ์พฤกษา กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ หอบหืด และวิทยาคุ้มกัน โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน เปิดเผยว่า จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันกับเรา ทั้งในระบบทางเดินอาหาร ผิวหนัง ในปาก ซึ่งจุลินทรีย์มีปริมาณมากเป็นล้านล้านชีวิตและมีกว่า 400-4,000 สปีชีส์แต่ละสปีชีส์ก็อาจจะอยู่ในบริเวณที่แตกต่างกัน โดยมีหน้าที่ช่วยสร้างวิตามิน เช่น วิตามิน K ช่วยย่อยและดูดซึมอาหาร ช่วยยับยั้งเชื้อโรค และช่วยทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยสำหรับเด็กทารกก่อนคลอดจะอยู่ในภาวะปราศจากเชื้อในถุงน้ำคร่ำ จนเมื่อคลอด ถุงน้ำคร่ำแตก เด็กก็จะสำลักเอาจุลินทรีย์เชื้อดีเหล่านี้ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณช่องคลอดของคุณแม่ เช่น จุลินทรีย์แล็กโตบาซิลลัส เข้าไปในร่างกาย ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้ก็จะเข้าไปตั้งรกรากในระบบทางเดินอาหาร และสร้างสภาพแวดล้อมให้จุลินทรีย์เชื้อดีอื่น ๆ เข้ามาอาศัย และสนับสนุนระบบย่อยและดูดซึมอาหาร รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีและเหมาะสม สำหรับเด็กที่คลอดผ่านการผ่าท้องคลอด จะไม่ได้รับจุลินทรีย์เหล่านี้ แต่จะได้รับชนิดอื่นซึ่งอาศัยอยู่ที่ผิวหน้าท้องแทน เช่น สเตปโตคอคคัส ซึ่งมีการศึกษาพบว่าอาจทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า Dysbiosis หรือเกิดความไม่สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ได้ ซึ่ง Dysbiosis หรือเกิดความไม่สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากวิธีการคลอด หากคลอดทางธรรมชาติก็จะมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่า แต่แม่บางคนก็มีความเสี่ยงหากต้องคลอดธรรมชาติ ซึ่งแพทย์อาจต้องเลือกการผ่าท้องคลอดแทน การไม่ได้รับประทานนมแม่ก็เป็นอีกสาเหตุ เพราะลูกที่ได้รับนมแม่จะได้รับจุลินทรีย์ที่ดี รวมทั้งอาหารจุลินทรีย์ที่ดีในน้ำนมแม่อีกด้วย การรับประทานยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรด (PPI) เป็นต้น การรับประทานอาหารที่เน้นโปรตีน ผักผลไม้น้อย ซึ่งไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์เชื้อดี นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสริมอื่น ๆ อีก เช่น ความเครียด เป็นต้น