รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) ได้มีหนังสือถึงสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขอความร่วมมือเร่งรัดมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับ สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2560 เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่ช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้หวัดนก จนถึงประมาณเดือน มี.ค.
โรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งถือว่ามีความครอบคลุมเรื่องการป้องกันโรคได้ แต่ก็ป้องกันได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับในกทม. สัปดาห์ที่ผ่านมามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกทม. ดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอแนะนำประชาชนใช้มาตรการ "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โดย
1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูก หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดควรใช้หน้ากากอนามัย
2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร
3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วันนับจากวันเริ่มป่วยหรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน
ด้านโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ประกาศหยุดทำการเรียนการสอนในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ เนื่องจากพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ เอ ซึ่งถือเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ให้แพร่กระจาย
เฝ้าระวังภาวะสมองอักเสบ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งไข้หวัดใหญ่ 2009 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี พบว่านอกจากอาการทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย หรือหากถึงขั้นอาการรุนแรงจะมีปอดอักเสบ ปอดบวมร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตแล้ว
ยังต้องเฝ้าระวังอาการทางสมองที่เหมือนกับภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียตัวอื่น ๆ ด้วย เพราะเมื่อปี 2557 มีการสอบสวนโรค พบว่าในจำนวนผู้ป่วยกว่า 2,000 ราย ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากถึง 22 ราย ในจำนวนนี้ที่เกิดจากสาเหตุภาวะปอดอักเสบ 21 ราย และมี 1 รายเสียชีวิตจากภาวะสมองอักเสบ
มีเด็กเสียชีวิตจากภาวะสมองอักเสบ
มีเด็กเป็นพี่น้องกัน 2 คนในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บีและมีภาวะสมองอักเสบ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม เด็กเสียชีวิต 1 คน ส่วนอีกคนต้องย้ายไปรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ศักยภาพสูงกว่า แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้สึกตัว
อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองอักเสบจากไข้หวัดใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้น เพราะเมื่อปี 2559 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ทำการรักษาผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคสมองอักเสบจากไข้หวัดใหญ่มาแล้ว แต่โชคดีที่รักษาได้ทัน
สิ่งสำคัญในขณะนี้คือ แพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ควรนึกถึงโรคทางสมองไว้ด้วย เพื่อจะได้ทำการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที อย่าดูแค่โรคระบบทางเดินหายใจอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา