เห็นผู้ใหญ่หลายๆคนชอบจับลูกโยนขึ้นสูงๆ แกว่งบ้างโยกบ้าง เห็นลูกหัวเราะชอบใจก็นึกว่าชอบ แต่จริงๆแล้วการกระทำเหล่านี้เป็นอันตรายกับสมองของลูกเราได้นะคะ เชื่อว่าพ่อแม่หลายๆคนยังไม่เคยรู้จักโรคShaken Baby Syndrome เวลาที่เล่นกับลูกแบบนี้อาจทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรงได้ ต้องระวังอย่างมากเลยละค่ะ!
“Shaken Baby Syndrome” คืออะไร?
โดยส่วนมากโอกาสจะเกิดกับเด็กที่ต่ำกว่า 1 ขวบ พบบ่อยในช่วงอายุ 3-8 เดือน Shaken Baby Syndromeเกิดจากการเขย่าเด็กไปมาอย่างรุนแรง จนเกิดการกระทบกระเทือนทางสมอง จนทำให้ตาบอด เป็นอัมพาต ชักกระตุกหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต
ทำไมเด็กถึงได้รับอันตรายจากการถูกเขย่าแรงๆได้ง่าย?
เพราะสมองของเด็กมีน้ำหนักถึง 1 ใน 4 ของน้ำหนักตัว บวกกับน้ำในสมองเยอะกว่าเนื้อสมอง สมองจึงมีความนิ่มเปราะบาง กว่าของผู้ใหญ่ ประกอบกับกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรงพอที่จะประคองศีรษะเองได้ ฉะนั้นเวลาถูกเขย่าสมองจะเคลื่อนไปมาจนทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อจากสมองไปส่วนต่างๆขาดได้ ทำให้มีเลือดออกในสมองและผลกระทบอื่นๆตามมาดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
6 พฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยง
1. อุ้มเด็กขึ้นโดยจับใต้รักแร้ แล้วเขย่า/แกว่งไปมา
2. หลีกเลี่ยงการเล่นที่ต้องโยนรับเด็กขึ้นลง
3. ถ้าให้เด็กนั่งบนตักหรือนั่งบนไหล่ ต้องระวังไม่ให้เด็กล้มตัวลงไปด้านหลังอย่างกระทันหัน
4. หลีกเลี่ยงการกอด/อุ้มเด็กแล้วหมุนตัวอย่างรวดเร็ว
5. เวลาอุ้มเด็กต้องใช้มือประคองศีรษะลูกไว้เสมอ
6. เวลานั่งรถเดินทางไปไหนก็ควรระวัง ไม่ให้ช่วงศรีษะของลูกต้องเหวี่ยงไปมา
เวลาดูแลเด็กไม่ว่าจะยังไงก็ไม่ควรเขย่าเด็ก และควรบอกกับพี่เลี้ยงญาติพี่น้องใกล้ชิด ให้ได้รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย ถ้าไม่ระวังเกิดเขย่าเด็กแรงขึ้นมา แล้วเด็กมีอาการผิดปกติไป เช่น ร้องไห้ไม่หยุด เซื่องซึม ชักกระตุก อาเจียน ควรรีบพาเด็กไปหาหมอและตรวจอย่างละเอียดโดยทันที บทความดีๆมีประโยชน์แบบนี้อย่าลืมแชร์กันต่อๆไปนะคะ
อ้างอิง… คลับของพ่อแม่มือใหม่ Mommylove