รู้ไว้ก่อนสาย เพราะ “เด็กหาย” อาจเป็นลูกคุณ

รู้ไว้ก่อนสาย เพราะ “เด็กหาย” อาจเป็นลูกคุณ

ทุกครั้งที่เห็นข่าว "เด็กหาย" ปรากฏบนสื่อต่างๆ คนเป็นพ่อแม่คงสลดหดหู่ใจไม่น้อย และต่างภาวนาว่า ขออย่าให้วันนั้นเกิดขึ้นกับครอบครัวและลูกของเราเลย แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะ แค่เราเผลอเพียงนิด ลูกอาจสูญหายไปจากอ้อมอก กลายเป็นฝันร้ายของคุณและครอบครัวไปตลอดชีวิต


สถิติเด็กหายน่ากลัวกว่าที่คิด

จากสถิติรับแจ้งเด็กหาย ของศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา พบว่า จำนวนเด็กหายจะพุ่งขึ้นทุกปี ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี 2556 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หายไปถึง 550 คน และปี 2557 มีเด็กหายเพิ่มเป็น 675 คน โดยเด็กที่หายไปทั้ง 2 ปีนี้ เสียชีวิตถึง 10 คน

ข้อมูลล่าสุดของเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวนเด็กหายไปแล้วถึง 76 คน 99% ของเด็กที่หายไปจะเป็นเด็กไทย และอีก 1% เป็นเด็กต่างชาติที่อพยพจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่
เด็กเป้าหมายส่วนใหญ่จะอยู่ที่อายุระหว่าง 4-8 ปี เพราะเป็นวัยที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จึงมักถูกหว่านล้อม และชักจูงง่าย

สาเหตุการหายตัวตามลำดับ คือ สมัครใจหนีออกจากบ้านเอง เพราะปัญหาครอบครัว ถูกล่อลวงจากการติดต่อทางสังคมออนไลน์ แล้วหลอกไปข่มขืน ติดเกม พลัดหลงกับพ่อแม่ผู้ปกครอง และที่รุนแรงที่สุดคือถูกลักพาตัว เพื่อไปใช้แรงงาน ขอทาน ล่วงละเมิดทางเพศ ทารุณกรรม และฆาตกรรมในที่สุด
กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ จังหวัดที่มีสถิติเด็กหายมากที่สุด รองลงมาคือ นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ตามลำดับ

สถานที่ที่ปลอดภัยคือสถานที่ที่อันตราย

จากสถิติยังพบอีกว่า สถานที่ที่เด็กมักหายตัวไปมากที่สุด กลับกลายเป็นสถานที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองคาดไม่ถึง เพราะชะล่าใจว่าเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กแล้ว เนื่องจากมีตนเองหรือผู้ใหญ่คอยดูแลและเฝ้ามองอยู่ ได้แก่ หน้าบ้าน หน้าโรงเรียน ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สนามเด็กเล่น วัด สวนสนุก และสวนสาธารณะ

ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกหายไป

1.ตั้งสติให้เร็วที่สุด พร้อมกับลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด แล้วรีบตรวจสอบทันทีว่าลูกหายตัวไปจริงหรือไม่ ใครเห็นลูกเป็นคนสุดท้าย
2.กลับไปตามหาที่จุดเดิมของลูกอย่างละเอียด และตรวจสอบบริเวณที่คิดว่าลูกน่าจะไป เช่น แผนกของเล่นเด็ก ร้านอาหาร/ร้านขนมที่ชอบ ร้านเกม บ้านเพื่อนสนิทที่ลูกมักไปเล่นด้วย
3.รวบรวมรายละเอียดของลูกให้มากที่สุด เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ รูปร่างหน้าตา ลักษณะเฉพาะของลูก ส่วนสูง อายุ น้ำหนัก พร้อมรูปภาพล่าสุดประกอบ
4.นำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานที่นั้นๆ ให้ประกาศและช่วยค้นหาลูก
5.หากทราบแน่ชัดแล้วว่าลูกหายไป ให้แจ้งความทันที ไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชม.
6.ใช้สังคมออนไลน์เป็นอีกช่องทางในการประกาศตามหา ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ฟอร์เวิร์ดเมล เว็บบอร์ดต่างๆ โดยแจ้งข้อมูลของลูกพร้อมภาพประกอบ สถานที่ วันเวลาที่ลูกหายตัวไปพร้อมเบอร์ติดต่อกลับของพ่อแม่ เพราะเด็กหายจำนวนไม่น้อย สามารถกลับมาสู่อ้อมกอดพ่อแม่ได้จากช่องทางนี้
7.แจ้งขอความช่วยเหลือจากสื่อตามหน้าหนังสือพิมพ์ สำนักข่าวทางโทรทัศน์ คลื่นวิทยุต่างๆ เช่น ส.ว.พ.91 (91 MHz) คลื่นร่วมด้วยช่วยกัน (96 MHz) จ.ส.100 (100 MHz) ชมรมวิทยุอาสาสมัคร ทั้งของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู ชมรมวิทยุแท็กซี่หรือหน่วยงานที่รับช่วยเหลือเฉพาะ เช่น มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น
8.ไม่ตั้งรางวัลหากใครพบลูก เพราะอาจมีมิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดี โทร.มาแจ้งเบาะแสเท็จ เพื่อหวังเงินรางวัล และสร้างความปั่นป่วนในการตามหา
9.ไม่ฟังคำที่คอยบั่นทอนจิตใจจากผู้อื่น เพราะจะทำให้สิ้นหวัง หมดกำลังใจในการออกตามหาลูก
10.คอยติดตามเรื่องจากสถานีตำรวจ และหน่วยงานที่ไปขอความช่วยเหลืออยู่เสมอ

 



ที่มา TheAsianParent Thailand

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์