พ่อแม่ควรรู้! ลูกมีอาการแบบไหน...เข้าข่ายโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ

พ่อแม่ควรรู้! ลูกมีอาการแบบไหน...เข้าข่ายโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ


โรคปอดบวม มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคนิวโมเนีย (pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อที่ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ เช่น เชื้อไมโคพลาสมา (mycloplasma) และเชื้อรา ทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย

โรคปอดบวมในเด็ก...ติดต่อผ่านทางใดได้บ้าง?
ปอดบวมสามารถติดต่อผ่านการหายใจซึ่งนำเชื้อโรคเข้าปอดโดยตรง จากการสูดหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อปนอยู่ในละอองฝอยขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริเวณที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ห้องเรียน โรงภาพยนตร์ สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์ผู้อพยพ โรงแรม หอพัก กองทหาร เรือนจำ

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ สำหรับเด็กที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ ก็สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ จึงต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน

อาการโรคปอดบวมที่ควรสังเกตอย่างใกล้ชิด
มีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจแรงจนรูจมูกบาน หรือหายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋ม และถ้าเกิดหลอดลมภายในปอดตีบก็อาจได้เกิดเสียงหายใจวี๊ด (wheeze) รายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว และถ้าหายใจลำบากอยู่นาน จะทำให้ขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีซึมลง หรือหมดสติในที่สุด

การรักษาโรคด้วยวิธีทั่วไป มีอะไรบ้าง?
แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ แต่ถ้ารายที่หอบมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดรับประทานอาหารทางปากเพื่อป้องกันการสำลัก
ให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
ให้ยาขยายหลอดลมสำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ด
พิจารณาให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่ ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ผู้ป่วยไออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุด


การรักษาโรคตามชนิดของเชื้อ
ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยทั่วไปไม่มียารักษาที่เฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการให้รักษาตามอาการ รวมถึงการบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม เช่น การเคาะปอด การดูดเสมหะ แต่สำหรับกรณีที่ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียารักษาเฉพาะ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย
ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะให้เร็วที่สุด และเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิด โดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาคลินิกในการตัดสินใจเลือกยาปฏิชีวนะนั้น
การป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคปอดบวม
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำเด็กเล็กไปในสถานที่ดังกล่าว

หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น

ไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงไปอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย

แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ซึ่งย่อมาจากคำว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือโรครุนแรงที่เกิดจากการ ติดเชื้อแบคทีเรีย "สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี" (Streptococcus pneumonia) ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ วัคซีนชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

 

 


เครดิตแหล่งข้อมูล : ศูนย์การเเพทย์พญาไทย




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์