ถูกเร่งเรียนจนเครียด_ทำร้ายเซลล์สมองเด็ก
#ถูกเร่งเรียนจนเครียด_ทำร้ายเซลล์สมองเด็ก
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้พบว่า ความกลัวและวิตกกังวลที่เป็นผลจากความเครียดเป็นเวลานานและเรื้อรังทำให้ร่างกายจะผลิตสารที่เป็นพิษต่อเซลล์สมอง(toxic stress)
Toxic stress ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ยิ่งเป็นเด็กเล็กด้วยแล้วเพราะเซลล์สมองของพัฒนามากที่สุดในช่วง 0-5 ปี เช่นสมองส่วน Hippocampus, Amygdala, Prefrontal cortex ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับ ความจำระยะสั้น การควบคุมจัดการอารมณ์ และทักษะ Executive function
ในที่นี้หมออยากจะเน้นถึงความเครียดในเด็กเล็กที่ถูกเร่งและเตรียมพร้อมด้านวิชาการ บางครั้งก็เป็นการเร่งเร็วและมากเกินไป เด็กบางคนยังใส่ผ้าอ้อม ยังต้องให้ผู้ใหญ่ป้อนข้าว แต่ต้องมาฝึกอ่านฝึกเขียน ฝึกบวกลบเลข บางทีเครียดกันทั้งบ้าน เมื่อเด็กยังทำไม่ได้ เพราะลูกบ้านอื่นเขาทำได้แล้ว (จริงๆพ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการ เด็กบ้านอื่นที่ทำได้เร็วเกินไป ตรงนั้นอาจไม่ใช่ความปกติตามวัย จะมาเร่งลูกตัวเองก็ไม่ใช่นะคะ)
ซึ่งตรงนี้ก็เข้าใจและเห็นใจพ่อแม่ ระบบการเรียนบ้านเรากดดันพอควร มีเด็กบางคนที่เพิ่งขึ้นอนุบาลสามไม่ทันไร ก็ต้องไปสอบเข้าป.1 บางโรงเรียนจัดสอบเมื่อเด็กเปิดเทอมอนุบาลสามได้แค่สองเดือน ข้อสอบยากเกินวัย แต่ทำอย่างไรได้ เมื่อพ่อแม่อยากให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนที่เชื่อว่าดีให้ได้ ก็ต้องติวกันยกใหญ่
เด็กเล็กๆบางคนถูกส่งไปติวกวดวิชาตั้งแต่ 3-4 ขวบ เพราะต้องเตรียมสอบ เข้าไปเรียนจะได้ทันเพื่อน เด็กบางคนเหนื่อยและเครียด ยิ่งเด็กที่มีพ่อแม่ที่เครียดและมีความคาดหวังสูง ว่าเด็กควรจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ได้ เด็กก็ยิ่งเครียดไปด้วยพ่อแม่บางคนบอกว่า ลูกๆก็ดูมีความสุขดี ก็ไม่เห็นจะเครียดตรงไหน แต่จริงๆแล้ว เด็กที่เครียดมักไม่ได้บอกเราตรงๆว่าเขากำลังเครียดหรือกังวลใจแบบผู้ใหญ่ เขาไม่เข้าใจหรอกว่าอะไรคือความเครียด แต่เด็กก็เครียดได้ และส่วนใหญ่จะแสดงออกด้วยพฤติกรรม เด็กบางคนซน ดื้อ ต่อต้าน ทะเลาะกับพี่น้อง บางคนฝันร้าย ปัสสาวะราด หรือมีพฤติกรรมถดถอย การช่วยเหลือตัวเองบางอย่างที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ อ้อนพ่อแม่มากขึ้น หมอไม่ได้บอกว่าห้ามฝึกฝนลูก แต่อย่าผิดวิธีหรือมากเกินไปจนกลายเป็นเด็กกดดันและเครียด และการฝึกฝนให้เด็กเล็กเรียนรู้ ไม่ใช่การฝึกฝนการเรียนวิชาการ แต่เป็นการฝึกฝนผ่านการเล่น ทำกิจกรรม อ่านหนังสือให้ฟัง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีเวลาให้เด็ก ตรงนั้นจะตรงตามพัฒนาการที่เหมาะสมมากกว่า เพราะในเด็กเล็ก สมองส่วนที่พัฒนาคือสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับทักษะการใช้ประสาทสัมผัส กล้ามเนื้อ การมองเห็น ทักษะอารมณ์ การเข้าสังคม ซึ่งไม่ได้พัฒนาผ่านการให้เด็กมานั่งเรียนวิชาการหรือเขียนหนังสือ
พ่อแม่บางคนบอกต่อว่า ก็ระบบการศึกษาบ้านเราเป็นแบบนี้ จะให้เขาไม่ทำเหมือนคนอื่นๆก็คงไม่ได้ เดี๋ยวลูกเสียโอกาส จริงๆแล้วการที่ลูกเสียโอกาสจริงๆแล้วคือ การฝึกให้เขาเร่งเรียนวิชาการจนเขาโตไปจะเลยวัยที่ควรพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็น ซึ่งถ้ารอจนโตบางครั้งก็จะไม่ได้สอนและปลูกฝังกันง่ายเหมือนตอนที่ยังเล็ก มีคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์พัฒนาการคือ Window of Learning หรือ opportunity ที่บอกว่าทักษะต่างๆควรจะพัฒนาในเด็กช่วงอายุไหน บางทีถ้าเลยวัยไปแล้วจะพัฒนาได้บ้างแต่ก็ไม่ดีนัก
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นพบคนไข้ที่มาด้วยโรคทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ทำร้ายตัวเอง มากขึ้นเรื่อยๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมอมาคิดดูแล้ว อาจเป็นเพราะเรากำลังอยู่ในสังคมที่เด็กๆไม่ค่อยมีโอกาสพัฒนาทักษะชีวิตเรื่องการจัดการอารมณ์หรือเข้าสังคม เพราะเขาขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะเหล่านี้เมื่อยังเล็ก เหตุผลก็คือ ต้องไปติวและเรียนพิเศษเพื่อจะได้สอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เพื่อจะได้สอบได้คะแนนดีๆท่ามกลางการแข่งขันด้านการเรียนการสอบเข้าในปัจจุบัน ถ้าเรายังปรับเปลี่ยนระบบไม่ได้ สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องเข้มแข็ง รู้ตัว มีสติและไม่เผลอไปกดดันลูกจนทำให้เกิดความเครียดและกังวลอย่างมากเกินไปในเด็ก
อย่าลืมว่าการเรียนไม่ใช่ทุกเรื่องในชีวิตเด็ก การใช้ชีวิตอย่างสมดุลและมีความสุขพอประมาณ จัดการอารมณ์ตัวเองได้เวลามีปัญหา เข้ากับคนอื่นๆได้ ตรงนั้นน่าจะสำคัญไม่แพ้กัน
สังคมเราอาจกำลังทำร้ายเด็กๆอย่างไม่รู้ตัว และกว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายเสียแล้ว
#หมอมินบานเย็น
ขอบคุณ เข็นเด็กขึ้นภูเขา
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น