ในฐานะจิตแพทย์ที่มีคำแนะนำและข้อคิดดีๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอยู่เสมอ ล่าสุดหมอมินบานเย็น-พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้จัดทำเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ก็เล่าไว้ในเพจดังกล่าวว่า มีคนตั้งคำถามมาว่าในช่วงที่กระแสละคร ‘เพลิงบุญ' แรงอย่างนี้ จะมีวิธีแนะนำเด็กๆอย่างไรให้เป็นคนดีและเท่าทันคน ไม่ตกเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันหากเด็กๆได้ไปช่วยเหลือใครไว้แล้วถูกหักหลัง ทำอย่างไรใหพวกเขายังศรัทธาและเชื่อมั่นในความดี
นี่คือคำแนะนำจากหมอ จะสอนเด็กยังไง เมื่อดู ‘เพลิงบุญ’ แล้วเห็นเรื่องทำดี แต่ไม่ได้ดี!
ซึ่งคุณหมอก็มีคำแนะนำดีๆไว้ดังนี้
...
#ในวันที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี
"สวัสดีครับคุณหมอ ผมเห็นคุณหมอเขียนถึงละครหลาย ๆ เรื่อง พอดีช่วงนี้กระแสละครเรื่องเพลิงบุญค่อนข้างแรง อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลเด็ก ๆ ให้เป็นคนดีที่เท่าทันคนครับ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
และถ้าวันหนึ่งเด็ก ๆ ไปช่วยเหลือคนแล้วถูกหักหลัง ถูกการทำความดีครั้งนั้นทำร้าย จะมีวิธีการอย่างไรให้เด็ก ๆ ยังคงศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีครับ
ขอบพระคุณมากครับ"
เป็นข้อความที่ส่งมาเมื่อไม่กี่วันก่อน
หมอเดาว่าคงจะหมายถึงเรื่องระหว่างเพื่อนสนิทสองคน คือ ‘พิม' และ ‘ใจเริง'
พิม เป็นคนที่มองโลกในแง่ดี เธอต้องการช่วยเหลือเพื่อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ วันที่ใจเริงเจอปัญหา พิมรับใจเริงเข้ามาอยู่ในบ้าน จนใจเริงเข้ามาเป็นมือที่สามในชีวิตครอบครัวของเธอ
ใจเริง เป็นเพื่อนสนิทของพิมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน แม้ว่าจะสนิทกันแต่นิสัยของทั้งคู่ก็แตกต่างกันมาก ใจเริงเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่น ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาเพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ แม้กระทั่งการทรยศหักหลังเพื่อนสนิทที่แสนดีอย่างพิม
หมอคิดว่าสิ่งที่เกิดไม่ได้หมายถึงว่าพิมรู้ไม่เท่าทันใจเริง แต่เพราะพิมเลือกจะทำในสิ่งที่ดี มีความเมตตาให้กับเพื่อนและคนรอบข้าง ตรงนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่พิมทำ แต่ที่พิมโดนใจเริงกระทำ นั่นเป็นปัจจัยที่พิมควบคุมไม่ได้ และพิมไม่ได้ทำอะไรผิด
นานมาแล้วเคยมีคุณแม่ท่านหนึ่ง เล่าเรื่องของลูกสาว และขอคำปรึกษาว่าจะแนะนำลูกอย่างไรดี
ลูกสาวเป็นเด็กดี มีน้ำใจกับเพื่อนๆ แต่บางครั้งด้วยความใจดีของลูก ทำให้ถูกเพื่อนแกล้งและเอาเปรียบ ลูกสาวคุณแม่รู้สึกไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรจึงเป็นแบบนี้ ทั้งที่ตัวเองก็ทำในสิ่งที่ดี แต่รู้สึกว่าสิ่งที่ได้รับไม่เหมือนที่ตัวเองทำอะไรดีๆให้เพื่อน
1.สำหรับพ่อแม่นั้น อย่างแรก คือ ต้องให้ความเชื่อมั่น ให้กำลังใจและชื่นชมในสิ่งดีๆที่ลูกทำไป
พ่อแม่บางคน จะบอกลูกว่า "ถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ไม่ต้องไปดีกับคนอื่นให้มาก" หรือ "สังคมก็เป็นแบบนี้ ไม่มีใครจริงใจกับเรา"
แม้กระทั่งพ่อแม่ที่สอนให้ลูกมองโลกในแง่ร้าย ถ้าไม่จำเป็นเราไม่ต้องทำดีกับใคร ไม่ต้องจริงใจกับใครด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องมาผิดหวังทีหลัง คำสอนเหล่านี้ทำให้เกิดความกลัวในใจเด็ก
ถ้าได้ฟังบ่อยๆ เด็กบางคนอาจมีความหวาดระแวง ไม่กล้าที่จะเปิดใจสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใคร กลายเป็นแผลในใจของเด็กได้
พ่อแม่ควรให้ความมั่นใจกับเด็ก ให้มีกำลังใจและแน่วแน่ในความดีที่เราทำไป อย่างน้อยๆ สิ่งดีๆที่ทำ ก็ดีกับตัวเอง ให้มีความหนักแน่นในความดีที่เรายึดมั่น
2.รับฟังและยอมรับความรู้สึกผิดหวังของลูก
บอกกับลูกว่า เป็นธรรมดาที่ชีวิตเราต้องเจอเรื่องผิดหวัง เรื่องบางเรื่องก็ไม่เป็นเหมือนที่คาดคิด เรื่องจริงที่เกิดขึ้นก็คือ เราไม่สามารถควบคุมการกระทำของคนอื่นๆได้ เราทำได้แต่เพียงตัดสินใจว่า เราจะทำแบบไหน เป็นอย่างไร
3.เข้าใจในตัวตนและเคารพการตัดสินใจของลูก
สามารถแนะนำลูกได้ แต่สุดท้าย ให้ลูกได้ตัดสินใจและเรียนรู้เองว่า จะทำตัวอย่างไรต่อไป บทเรียนที่เขาได้เรียนรู้จะเป็นประสบการณ์ชีวิตที่สอนเขาในวันข้างหน้า ว่าเป็นธรรมดาที่ในชีวิตของคนเรา ต้องพบเจอกับเรื่องผิดหวัง และหลายๆครั้งที่ความผิดหวังที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเกิดจากคนอื่น ก็ขอให้อย่าท้อแท้ และมีกำลังใจในชีวิตข้างหน้าต่อไป
มีคำพูดที่บอกไว้ว่า
คงไม่ใช่ว่าทุกวันจะเป็นวันที่ดี
แต่ชีวิตก็คงต้องดำรงอยู่ต่อไป
ใช่ว่าทุกคนที่เรารักจะต้องรักเราตอบ
แต่อย่างไรความรักคือสิ่งที่สวยงาม
ใช่ว่าทุกคนจะพูดความจริงกับเราเสมอ
แต่ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ควรยึดมั่น
ใช่ว่าทุกคนจะมีความยุติธรรมกับเรา
แต่อย่างไรเราก็ไม่ควรไปเอาเปรียบ หรือทำอยุติธรรมกับใครๆ
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนยึดมั่นในความดีต่อไปนะคะ
#หมอมินบานเย็น
ที่มา เข็นเด็กขึ้นภูเขา