วัคซีนป้องกันปัญหาอาชญากรเด็กและวัยรุ่น
กรมสุขภาพจิต เล็งเพิ่ม MQ ปลูกฝังด้านจริยธรรม คุณธรรมให้แก่เด็กไทยที่เกิดในยุคดิจิทัลเป็น วัคซีนป้องกันปัญหาอาชญากรเด็กและวัยรุ่น ในอนาคต
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ประชุมคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งโดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิ องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพจิต เพื่อจัดร่างยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเสนอประเด็นให้บรรจุในร่างยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติ 20 ปีฉบับนี้ มี 4 ประเด็น ได้แก่
1. เพิ่มเรื่องเอ็มคิว ( Moral Quotient : MQ)
เพื่อปลูกฝังด้านจริยธรรม คุณธรรมให้แก่เด็กไทยที่เกิดในยุคดิจิทัล เป็นวัคซีนป้องกันปัญหาอาชญากรเด็กและวัยรุ่นในอนาคต ซึ่งข้อมูลปัจจุบันนี้พบว่าเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดที่มีปีละ 40,000 - 50,000 คดี มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ และเป็นเด็กที่มีครอบครัวไม่ใช่เด็กเร่ร่อนเหมือนในอดีต ซึ่งเอ็มคิวนี้จะทำให้เด็กมีศีลธรรม ละอายต่อการกระทำผิด ทำบาป สามารถสร้างเอ็มคิวได้จากการเลี้ยงดูกล่อมเกลาจากครอบครัว ดังนั้นต้นทุนชีวิตของลูกหลานไทยในยุคดิจิทัลทุกคนจะต้องมีอย่างน้อย 3 คิว คือไอคิว(IQ) อีคิว(EQ)และเอ็มคิว(MQ) คือมีสมองดี อารมณ์ดี มีศีลธรรมประจำใจด้วย
2. มีระบบส่งเสริมพัฒนาเด็กไทยที่มีไอคิวสูงหรือที่เรียกว่าเด็กอัจฉริยะ
ซึ่งมีประมาณร้อยละ 5 ของเด็กไทย เพื่อให้เป็นผู้นำในการสร้างผลผลิตของประเทศไทยในอนาคตอย่างจริงจัง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยให้แกร่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศดำเนินการแล้วทั้งในเอเชีย อเมริกา
3. การบรรจุวิชาสุขภาพจิตเข้าในหลักสูตรการเรียนการของกระทรวงศึกษาธิการ
ให้นักเรียนมีความรู้เรื่องของสุขภาพจิต ปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง รู้จักความผิดปกติจิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม และเข้ารับบริการรักษาได้เร็ว จะส่งผลดีต่อคุณภาพการรักษา สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเป็นการเสริมระบบการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
4. การออกแบบระบบความปลอดภัยของโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดีอย่างเหมาะสม
ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯให้สมบูรณ์แบบ คาดว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติเพื่อพิจารณาในปลายเดือนนี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกาศใช้ ให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติต่อไป