ดร.นคร เสรีรักษ์ ผู้ก่อตั้งฟอรั่มไพรเวซี่ไทยแลนด์และที่ปรึกษานโยบายเครือข่ายพลเมืองเน็ตของประเทศไทย (Thai Netizen Network) ร่วมกับ SafeGov.org สำรวจความคิดเห็นพ่อแม่ที่มีลูกวัยเรียน 300 คน โดยเผยว่า พ่อแม่ 90% คาดว่าลูกจะได้รับประโยชน์และเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการใช้อินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่กังวลคือบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ควรมีโฆษณาหรือนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปใช้เพื่อแสวงหากำไร ในขณะที่ 83% ของพ่อแม่เห็นว่าควรมีกฎหมายบังคับไม่ให้มีโฆษณาในระบบอินเตอร์เน็ตของโรงเรียน และอนุญาตให้ผู้ปกครองควบคุมข้อมูลส่วนตัวของเด็กที่บริษัทอินเตอร์เน็ตรวบรวมไปด้วย
อันตรายที่มาจากอินเตอร์เน็ตยังรวมถึงการกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyber Bullying) หรือความรุนแรงที่เด็กทำต่อเด็ก ด้วยการโพสต์ล้อชื่อพ่อแม่ การตัดต่อภาพ การสร้างเรื่องโกหก หรือการกีดกันเพื่อนเพื่อสร้างความแปลกแยก สถิติการกลั่นแกล้งออนไลน์ของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น และการกลั่นแกล้งออนไลน์ยังเป็น 1 ใน 10 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยฆ่าตัวตาย ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ นักวิจัยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการกลั่นแกล้งออนไลน์มักเกิดขึ้นในสังคมที่เห็นว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ เด็กที่ถูกแกล้งจะแกล้งเพื่อนคืน เป็นวงจรไม่รู้จบ