ในวันแรกหลังคลอด น้ำนมของคุณแม่เริ่มมาแล้ว คุณแม่จะสังเกตได้ว่าน้ำนมมีสีเหลือง เรียกว่าโคลอสตัม จะเป็นน้ำนมส่วนที่อุดมไปด้วยคุณค่ามหาศาลต่อลูกน้อย อย่างไรก็ตามน้ำนมของคุณแม่ยังออกไม่มากนัก หากคุณแม่ปั๊มนมแล้วได้น้ำนมติดก้นขวด ไม่ต้องตกใจ เพราะกระเพาะของลูกน้อยในวันแรกมีขนาดเท่า ลูกแก้ว หรือเพียง 1 - 1.4 ช้อนชา เท่านั้น ร่างกายของคุณแม่จึงผลิตน้ำนมออกมาในปริมาณเท่าที่ลูกน้อยต้องการนั่นเอง
ในวันที่ 3 หลังคลอด กระเพาะของลูกน้อยค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น มีขนาดเท่าลูกปิงปอง การให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ปั๊มบ่อย ๆ จะทำให้น้ำนมแม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สัมพันธ์กับระบบย่อยอาหารของทารกที่ค่อย ๆ เริ่มทำงาน คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ทารกกินนมในปริมาณมาก ๆ เพื่อให้กระเพาะขยายไว ๆ เพราะปริมาณนมที่กระเพาะเขาจะรับได้ อยู่ที่ .75 - 1 ออนซ์เท่านั้น หากคุณแม่ให้นมลูกมากเกินไปจะกลายเป็น overfeeding ทำให้ลูกงอแง แหวะนม หรืออาเจียนออกมา เพราะว่านมล้นกระเพาะค่ะ
ปริมาณนมที่ทารกต้องการต่อการกินนมหนึ่งครั้งในเดือนแรกหลังคลอด จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามขนาดกระเพาะที่ค่อย ๆ ขยายขึ้นดังนี้
1 วัน ขนาดเท่าลูกแก้ว ควรได้รับนม 5 - 7 ซีซี หรือ 1 - 1.4 ช้อนชา
3 วัน ขนาดเท่าลูกวอลนัท ควรได้รับนม 22 - 27 ซีซี หรือ .75 - 1 ออนซ์
7 วัน ขนาดเท่าผลแอปปริคอต ควรได้รับนม 45 - 60 ซีซี หรือ 1.5 - 2 ออนซ์
30 วัน ขนาดเท่าไข่ไก่ ควรได้รับนม 80 -150 ซีซี หรือ 2.5 - 5 ออนซ์
คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า เนื่องจากขนาดของกระเพาะทารกแรกเกิดมีขนาดเล็ก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทารกแรกเกิดจึงต้องกินบ่อยๆ และคุณแม่ควรมีความมั่นใจว่า ร่างกายสามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอกับความต้องการของทารกแน่นอน ซึ่งวัดจากจำนวนครั้งของอึ 2 ครั้ง/วัน ฉี่ 6 ครั้ง/วัน ไม่ใช่ดู จากการที่ลูกตื่นบ่อย ขยับปากตลอดเวลา วางไม่ได้เลย แปลว่านมไม่พอ
จะเห็นได้ว่า การที่ลูกร้องบ่อย ๆ นั้นไม่ได้หมายความว่านมไม่พอ แต่เป็นเพราะว่า ขนาดกระเพาะของลูกน้อยยังมีขนาดเล็กนั่นเอง คุณแม่จึงต้องให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ยิ่งดูดบ่อย ร่างกายคุณแม่ก็จะยิ่งผลิตน้ำนมมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ