การตัดเล็บให้เจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิดนั้นเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของพ่อแม่มือใหม่ เพราะนิ้วน้อย ๆ และเนื้ออ่อน ๆ นั้นแสนบอบบาง หากลูกดิ้นหรือเผลอนิดเดียวก็อาจตัดเข้าเนื้อของเบบี๋ได้ เรามาดูคำแนะนำในการตัดเล็บทารกกันค่ะ
ความเชื่อเกี่ยวกับการตัดเล็บทารก
ห้ามตัดเล็บทารกจนกว่าจะอายุครบ 1 เดือน เพราะจะทำให้เด็กป่วยง่ายจริงหรือ?
ความเชื่อนี้ เป็นเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีอุปกรณ์ตัดเล็บสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงเสี่ยงต่อการพลาดไปโดนเนื้อบาง ๆ ของเจ้าตัวเล็ก จริง ๆ แล้ว การตัดเล็บทารกนั้น สามารถตัดได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเลือกใช้กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งมีความคมน้อยกว่ากรรไกรตัดเล็บปกติ
ทำไมจึงต้องตัดเล็บทารก
เล็บของเบบี๋ยาวเร็ว หากไม่ตัดอาจข่วนหน้าข่วนตาทำให้เป็นแผลได้ แต่หากใส่ถุงมือเด็กอ่อนตลอดเวลาก็อาจสกัดกั้นพัฒนาการของลูกในการเรียนรู้หยิบจับของลูกได้ คุณแม่จึงควรหมั่นตัดเล็บให้ลูกบ่อยๆ ค่ะ ในช่วงแรก ๆ อาจใช้ตะไบเล็บลับมุมที่คมแทนการตัดเล็บก็ได้
วิธีตัดเล็บเด็กอ่อน
1.เลือกใช้กรรไกรสำหรับตัดเล็บเด็กโดยเฉพาะ ปัจจุบันมี 3 แบบ คือ
1.1 แบบกรรไกรตัดเล็บผู้ใหญ่
1.2 แบบกรรไกรตัดกระดาษ
1.3 ที่ตัดเล็บอัตโนมัติ ทำหน้าที่เหมือนตะไบเล็บ ไม่ต้องกลัวว่าจะตัดเข้าเนื้อลูก
2. เวลาที่เหมาะสำหรับการตัดเล็บทารกที่สุด คือ ตอนที่ลูกหลับ แต่ไม่ควรตัดเล็บเวลากลางคืนที่แสงสว่างไม่เพียงพอ เพราะมีโอกาสที่จะตัดถูกนิ้วของลูกได้
3. ทำความสะอาดกรรไกรตัดเล็บด้วยแอลกอฮอล์ก่อนตัด
4. ทาโลชั่นที่เล็บ หรือตัดเล็บทารกหลังอาบน้ำ เพื่อให้เล็บอ่อนนุ่มตัดง่าย
5. ตัดตรง ๆ ทีเดียวให้ขาด แล้วเล็มมุมที่เหลือให้มน
6. ใช้มือลูบเพื่อสำรวจว่าตรงไหนยังคม จากนั้นใช้ตะไบตะไบขอบเล็บเบาๆ
คำเตือน
ไม่ควรกัดเล็บลูก เพราะแบคทีเรียจากปากคุณแม่จะเข้าสู่ผิวหนังลูกผ่านบาดแผลเล็ก ๆ ที่อาจมองไม่เห็นบนนิ้วลูกได้
ตัดเล็บเข้าเนื้อลูกทำอย่างไร
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เผลอตัดเล็บเข้าเนื้อเบบี๋เลือดออก ขอให้ตั้งสติ ไม่ต้องตกใจ และทำดังนี้
1. ห้ามเลือด โดยใช้ผ้าแห้งกดเบา ๆ บริเวณแผล หรือใช้ผ้าพันนิ้วไว้
2. ระวังอย่าให้ลูกเอานิ้วเข้าปาก
3. เมื่อเลือดหยุดให้ใช้น้ำสะอาดล้างแผลให้สะอาด
4. ระวังไม่ตัดซ้ำที่เดิม แผลลูกจะหายเองตามธรรมชาติ
5. แต่หากเลือดไม่ยอมหยุด ควรพาไปพบคุณหมอ