เวลาที่คุณแม่ป้อนอาหารลูกน้อย อาหารที่อาจจะร้อนไปจึงต้องเป่าอาหารก่อนป้อน หรือบางทีชิ้นใหญ่ไปคุณแม่ก็กัดแบ่งให้มักเป็นวิธีที่คุณแม่หลาย ๆ คนทำ แต่คุณแม่รู้ไหมคะว่า การทำแบบนี้อาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงฟันผุได้นะคะ แต่จะเสี่ยงอย่างไร ติดตามอ่านค่ะ
ฟันผุ
ฟันผุเป็นโรคสุดฮิตอันดับหนึ่งที่ต้องมาพบหมอฟัน เริ่มกันตั้งแต่วัยเด็กเลยทีเดียว ฟันผุเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้แบคทีเรียชื่อ Streptococcus mutans ซึ่งติดต่อได้ทางน้ำลาย สาเหตุอีกประการหนึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ คือ คุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูมักไม่เห็นความสำคัญของฟันน้ำนมเพราะถือว่า เป็นฟันที่ใช้งานชั่วคราว อีกไม่นานก็หลุด และมีฟันถาวรขึ้นมาแทนที่ ทำให้ละเลยไม่สนใจดูแลฟันน้ำนมของเด็กเท่าที่ควร
แม่รู้ไหม? เป่า กัดอาหารป้อนลูกเสี่ยงติดเชื้อฟันผุได้
การดูแลลูกโดยเฉพาะในเรื่องของการรับประทานอาหาร ลูกยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อหรือคุณแม่ที่ต้องป้อนอาหารให้เจ้าตัวน้อย อาหารของลูกที่ปรุงสุกใหม่ ยังร้อนอยู่เวลาที่คุณแม่ป้อนก็มักจะเป่าให้เย็นก่อนจึงจะป้อนลูก ถ้าอาหารหรือขนมชิ้นใหญ่เกินไปก็มักจะกัดแบ่งให้ลูก คุณแม่บางคนเคี้ยวอาหารก่อนป้อนลูกก็มีนะคะ แต่รู้ไหมคะว่า การทำเช่นนี้ลูกเสี่ยงฟันผุได้นะ!!! แม้โรคฟันผุจะไม่ใช่โรคทางกรรมพันธุ์ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีฟันผุ ทำให้ในช่องปากมีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อฟันผุ มีโอกาสถ่ายทอดไปยังเด็กได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้ปากเป่าอาหาร กัดอาหาร หรือเคี้ยวอาหารป้อนเด็ก รวมไปถึงไม่ใช้จาน ช้อน แก้วน้ำร่วมกับเด็ก เพราะลูกจะได้รับเชื้อฟันผุจากผู้ที่ป้อนข้าวเข้าไปด้วย จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นฟันผุมากขึ้น
แนะนำว่า เวลาที่ปรุงอาหารสุกเสร็จใหม่ ๆ อาหารนั้นยังร้อนอยู่ ปล่อยทิ้งไว้ก่อนให้อาหารเย็นลงหรืออุ่น ๆ พอให้ลูกทานได้โดยไม่ต้องเป่า ก็เป็นวิธีการที่ดีนะคะ บางทีก็อาจจะใช้พัดลมเป่าก็ได้แต่พัดลมนั้นต้องมั่นใจสะอาดไม่มีฝุ่นจับนะคะ ไม่เช่นนั้นฝุ่นผงอาจจะปลิวลงไปในชามอาหารของลูกได้
หมอฟันแนะนำ : วิธีดูแลช่องปากและฟันน้ำนมลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย
ทันตแพทย์หญิง พรศริน โตวิศิษฐ์ชัย กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลบางบ่อ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลช่องปากและฟันน้ำนมของเด็กในแต่ละช่วงวัยว่า
ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนและทยอยขึ้นจนครบ 20 ซี่ เมื่อลูกอายุ 2-3 ปี หน้าที่ของฟันน้ำนมนอกจากใช้บดเคี้ยวและให้ความสวยงามแล้ว ยังช่วยพัฒนาการออกเสียง ช่วยกระตุ้นให้การเจริญเติบโตของขากรรไกร และใบหน้าเป็นไปตามปกติ และช่วยกันที่ไว้ให้ฟันถาวรขึ้นอย่างปกติ การมีฟันเคี้ยวอาหารได้ละเอียดจะส่งผลดีต่อระบบทางเดินอาหารและการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้น การดูแลช่องปากและฟันควรทำอย่างถูกวิธี ดังนี้
วัยแรกเกิด - อายุ 6 เดือน
1. ให้เด็กกินนมแม่ดีที่สุด หากกินนมขวด อย่าผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง เพราะจะทำให้เด็กติดรสหวาน
2. ทำความสะอาดช่องปากวันละ 2 ครั้ง โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดเบา ๆ ที่เหงือก กระพุ้งแก้ม และลิ้น
3. ให้เด็กกินนมเป็นมื้อ และควรให้เลิกนมตอนกลางคืนเมื่อเด็กอายุครบ 6 เดือน
วัย 6 เดือน - 1 ปี
1. เด็กวัยนี้ไม่ควรให้นมเวลาเด็กนอนหลับ
2. เริ่มฝึกให้เด็กดื่มนมจากแก้วหรือดูดจากหลอด
3. ไม่ควรให้เด็กดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือน้ำผลไม้โดยใช้ขวดนม
4. เมื่อฟันเริ่มขึ้น ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดเบาๆ ที่ฟัน เหงือก กระพุ้งแก้ม และลิ้น
5. เมื่อฟันขึ้นเต็มซี่ อาจเริ่มใช้แปรงสีฟันที่มีขนนิ่มแปรงฟันให้เด็ก
วัย 1 ปี - 1 ½ ปี
1. ให้เด็กเลิกดูดขวดนม แต่ให้ดื่มนมจากแก้ว หรือใช้หลอดดูดแทน ดื่มนมรสจืดเท่านั้น
2. ให้เด็กกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ อย่าให้ดื่มนมมากจนกินอาหารหลักได้น้อย นมเป็นเพียงอาหารเสริม
3. ไม่ควรใช้ปากเป่าอาหารป้อนให้เด็ก หรือใช้จาน ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับเด็ก
4. ควบคุมเรื่องขนมหวานที่มีลักษณะเหนียวติดฟันในช่วงอาหารระหว่างมื้อ
5. แปรงฟันให้เด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน
วัย 1 ½ ปี - 3 ปี
1. เด็กวัยนี้จะเริ่มมีฟันกรามน้ำนมขึ้น และจะทยอยขึ้นจนครบ 20 ซี่ ให้ใช้แปรงสีฟันขนนิ่มแปรงฟันให้เด็ก วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน
2. อาจเริ่มฝึกให้เด็กแปรงฟันเอง แล้วผู้ปกครองช่วยแปรงซ้ำให้ทั่วทุกซี่ทุกด้านของฟัน
3. เมื่อฟันหลังเริ่มเบียดชิดกัน ผู้ปกครองควรใช้ไหมขัดฟันขัดซอกฟันให้เด็กวันละครั้งก่อนนอน
4. ฝึกให้เด็กกินอาหารเป็นเวลา ไม่กินจุบจิบ
5. เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้ หลีกเลี่ยงขนมหวานที่มีลักษณะเหนียวติดฟัน
6. เด็กวัยนี้ควรเลิกนมขวดได้แล้ว
เมื่อได้ทราบข้อมูลแล้วว่า การเป่า กัด หรือเคี้ยวอาหารให้ลูก อาจทำให้ลูกติดเชื้อฟันผุจากคุณพ่อคุณแม่ได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงนะคะ นอกจากนั้น การดูแลทำความสะอาดช่องปากและฟันน้ำนมของลูกน้อยสามารถทำตามคำแนะนำของคุณหมอได้เลยคะ รับรองว่าลูกของคุณจะมีฟันที่สวยงามและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการพูดได้ดีอีกด้วย