อย่าคิดว่าลูกอ้วนท้วนเป็นเด็กน่ารัก ควรจะให้ลูกมีน้ำหนักและส่วนสูงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติจะดีกว่า เด็กอ้วนจ้ำหม่ำใครพบเห็นก็เอ็นดูและหมั่นเขี้ยวด้วยกันทั้งนั้น แต่หารู้ไม่ว่าเด็กจ้ำหม่ำเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บอีกจำนวนมากที่ชื่นชอบเจ้าความอ้วนยิ่งนัก
ตัวเลขจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยสำรวจและประมาณการเกี่ยวกับสัดส่วนของเด็กไทยที่อาจจะเข้าสู่สภาวะเป็นเด็กอ้วนไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5 นั่นหมายความว่า ในเด็ก 5 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน และเด็กวัยเรียนจะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10 และจากอุบัติการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรคอ้วนในเด็กไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามสถิติอาจสรุปได้ว่า เป็นประเทศที่มีการเพิ่มจำนวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก มีรายงานว่า เฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5
ดร.จอห์น รีลลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอ้วนในเด็ก มหาวิทยาลัยกลาสโกว ในสก็อตแลนด์ ศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่มีปัญหาโรคอ้วนนั้นมักจะฉายแววมาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสัญญาณเตือนภัยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อ้วนมีข้อน่าสังเกตอยู่ 6 ประการ ดังนี้
1. น้ำหนักแรกเกิดมาก คุณพ่อคุณแม่ที่นิยมชมชอบให้ทารกน้อยคลอดออกมามีน้ำหนักตัวมากๆ คงต้องทำความเข้าใจใหม่กันใหม่ เพราะยิ่งทารกมีน้ำหนักแรกคลอดมากเท่าไรยิ่งเสี่ยงเป็นเด็กอ้วนมากเท่านั้น ฉะนั้น ขอให้น้ำหนักของลูกได้มาตราฐาน และคุณพ่อคุณแม่ก็เลี้ยงดูอย่างถูกวิธี รวมถึงเรื่องของโภชนาการย่อมดีกว่า
2.ตัวโตกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 2 ขวบปีแรก ความเข้าใจที่ว่าลูกโตกว่ารุ่นเดียวกัน เพราะพ่อแม่เลี้ยงดี หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นครอบครัวที่มีอันจะกิน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเลี้ยงลูกให้มีร่างกายสมส่วน น่ารักสมวัย และร่างกายแข็งแรงมักดีกว่าเป็นไหนๆ
3.เด็กมีระดับไขมันในร่างกายสูงตั้งแต่เล็ก เรื่องของระดับไขมันสูง เมื่อก่อนมักเกิดกับผู้ใหญ่ หรือกลุ่มผู้สูงวัย แต่เดี๋ยวนี้สถิติที่น่าตกใจก็คือ ระดับไขมันในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น สัมพันธ์กับอายุของคนเราที่มีแนวโน้มไขมันสูงขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ
4.พ่อหรือแม่เป็นโรคอ้วน ถ้าประสบปัญหานี้ก็ต้องทำใจเพราะเป็นเรื่องของพันธุกรรม แต่ในเมื่อรู้ว่าลูกเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วน ก็ควรจะดูแลเรื่องอาหารการกิน และวิถีการใช้ชีวิตของลูกให้มากเป็นพิเศษตั้งแต่เล็ก
5.เด็กดูทีวีมากเกินไป สัปดาห์ละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป เด็กกลุ่มนี้นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น เพราะระหว่างที่เด็กดูทีวีก็มักจะติดขนมขบเคี้ยวไปด้วย อีกทั้งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ย่อมทำให้เด็กอ้วน
6.นอนหลับน้อยกว่า 10 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน โอกาสที่เด็กนอนเก่ง กินเก่ง ทั้งหลายจะกลายเป็นเด็กอ้วนก็มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน