หรืออาจจะเป็นพ่อแม่เองที่ทำให้ลูกดื้อมากขึ้น‬

หรืออาจจะเป็นพ่อแม่เองที่ทำให้ลูกดื้อมากขึ้น‬

มีคุณพ่อคุณแม่หลายๆคนที่ถามหมอว่า ทำไมลูกเอาแต่ใจ ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ทำยังไงเพื่อจะปรับพฤติกรรมลูกให้ดีขึ้น บางทีตีแล้วก็ไม่เห็นเปลี่ยนแปลง หลายๆครั้งที่คุยไปในรายละเอียด ก็พบว่า การที่เด็กดื้อเอาแต่ใจ หลายๆครั้งมาจากพฤติกรรมส่วนหนึ่งของพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในบ้านที่ตอบสนองกับพฤติกรรมดื้อๆของเด็กแบบไม่ถูกจุด

หมอขอยกตัวอย่างการทำงานของสื่อมวลชนไทยเมื่อวาน ที่มีความต้องการที่จะทำข่าวถ่ายรูป โดยไม่คิดถึงความเหมาะสม ต่างคนก็อยากได้ข่าว ส่วนตัวหมอคิดว่าไม่เพียงแต่สื่อมวลชนอย่างเดียวที่ต้องปฏิรูป จริงๆแล้วปัญหามันอาจจะอยู่ที่คนไทยส่วนใหญ่ในสังคม สังเกตมั้ยว่า ถึงจะมีกระแสวิจารณ์ตำหนิสื่อหรือประชาชนที่เอารูปผู้เสียชีวิตมาเผยแพร่ แต่หลายๆคนที่วิจารณ์ก็ยังคงดูรูปที่ไม่เหมาะสมนั้น ในเฟซบุ๊คในไลน์ก็ยังส่งกันแพร่หลาย  ส่วนสื่อมวลชนหรือหนังสือพิมพ์ที่ทำอะไรไม่เหมาะสมอยู่ ก็ยังเป็นสื่อและหนังสือพิมพ์ที่ทำยอดขายได้เป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย

ยิ่งลงรูปภาพที่ไม่เหมาะสม กลับกลายเป็นขายดี มันก็เหมือนไปส่งเสริมพฤติกรรมไม่ดีให้เกิดต่อเนื่อง หนังสือพิมพ์หรือสื่อก็ยังคงลงรูปที่ไม่เหมาะสมไปเรื่อยๆ การที่ไปสนับสนุนหรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่ไม่ดี ก็เหมือนการส่งเสริมให้สิ่งไม่ดีนั้นยังคงเกิดต่อไป เพราะคิดว่า ถึงแม้ว่าจะถูกด่า แต่คนส่วนใหญ่ก็ซื้ออ่าน เปิดช่องนี้รายการนี้ดู ทำให้ยังคงทำแบบเดิมๆต่อเนื่อง เป็นได้การส่งเสริมสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม คือ ยอดขายและเรตติ้ง

 

ย้อนกลับมาดูที่เด็กๆของเรา เมื่อเด็กอยากได้อะไร แล้วร้องไห้ อาละวาด หรือพ่อแม่เรียกว่า ลูกดื้อ เอาแต่ใจตัวเอง สมมติว่า ลูกอยากได้ของเล่นแล้วร้องไห้ ถ้าทำแล้วมีคนสนใจ ตอนแรกอาจจะดุว่า แม่อาจจะบอกว่า อย่าทำแบบนี้ ไม่ดีนะลูก บางทีดูจริงจัง มีเผียะไปสักทีสองที แต่ว่า พอเด็กร้องไปเรื่อยๆ พ่อแม่กลายเป็นทนไม่ไหว เข้าไปโอ๋ ไปปลอบ สุดท้าย คือ อาจจะใจอ่อนยอมตามที่เด็กต้องการ ซื้อของเล่นให้

เด็กก็จะเรียนรู้ว่า ถ้าอยากได้ของเล่นคราวหน้า ต้องร้องไห้ ต้องดื้อ ในที่สุดผู้ใหญ่ก็จะเสร็จเขา คือ ยอมให้ในสิ่งที่เด็กต้องการ เด็กจึงเรียนรู้ที่จะใช้วิธีเดิมๆ เพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการ ทำให้เด็กคนนั้นกลายเป็น "เด็กดื้อและเอาแต่ใจ" ทั้งๆที่หนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้เค้ามีพฤติกรรมแบบนี้ต่อเนื่อง ก็คือ ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ให้แรงเสริมที่ไม่เหมาะสมทำให้ พฤติกรรมดื้อเอาแต่ใจเกิดขึ้นไปไม่จบสิ้นเพราะรู้ว่า ดื้อ ร้องไห้ เอาแต่ใจ แล้วสักพักพ่อแม่จะใจอ่อน แล้วพ่อแม่ควรจะตั้งหลักยังไงดี

     1. ถ้าเด็กร้องไห้ จากเบาๆ เป็นดังขึ้น อาจมีกรี๊ด อาละวาด โวยวาย ลงมือลงเท้า ถ้าผู้ใหญ่อดทน ไม่ไปโอ๋ ไม่ปลอบ เพียงพูดกับเด็กเรียบๆ สะท้อนความรู้สึก ว่าเข้าใจ แต่ไม่ตามใจ เช่น "แม่รู้ว่าหนูไม่ชอบ ไม่พอใจ แต่แม่จะยังไม่คุยด้วยถ้าหนูร้องแบบนี้ ไว้หนูเงียบแล้วแม่จะมาคุยด้วย"

 

     2. เมื่อเราทำตามข้อ 1 แล้ว เด็กอาจจะร้องดังขึ้น หนักขึ้น เพื่อทดสอบเรา ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่มักจะ"เสร็จ"ตรงนี้ เมื่อเด็กร้องดังขึ้น เสียงมันบีบหัวใจพ่อแม่ (แม่คนหนึ่งบอกหมอแบบนี้) บางคนมีอ๊วก ชักดิ้นชักงอ ผู้ใหญ่จะบอกว่า กลัวเด็กเป็นอันตราย เด็กจะชัก จะเครียด เดี๋ยวหายใจไม่ออก แต่ถ้าเราอดทนคอยดูห่างๆ ผ่านขั้นที่สองนี้ไปได้ โดยไม่ตามใจเด็ก เด็กจะเริ่มเหนื่อย เพราะรู้ว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ตรงนี้ส่วนใหญ่มักไม่นานมาก(ส่วนใหญ่ไม่เกินครึ่งชั่วโมง) เด็กก็จะหยุดร้องไห้ ข้อนี้ยากมาก ส่วนใหญ่พ่อแม่อดใจไม่ไหว กลัวเด็กจะเสียสุขภาพจิตถ้าร้องไห้มากๆนานๆ จริงๆการร้องไห้นานๆไม่เป็นอันตราย แต่การที่ตามใจเด็กจนเคยจะมีผลเสียในระยะยาวมากกว่า


หรืออาจจะเป็นพ่อแม่เองที่ทำให้ลูกดื้อมากขึ้น‬

     3. ถ้าผ่านข้อแรก ข้อสองไปได้ ก็สบายแล้ว เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ใหม่ว่า ถ้าอยากได้อะไร การร้องไห้ดังๆ ตีโพยตีพายไม่ช่วยให้ได้อย่างที่ต้องการ สู้พูดเพราะๆ ดีๆ ไม่ได้ ผู้ใหญ่ก็จะชมเชยให้ความสนใจเมื่อเด็กไม่ร้องไห้ แต่ถ้าเอาแต่ใจดื้ออาละวาดจะไม่มีใครสนใจ เด็กส่วนใหญ่ถ้าทำตามนี้ก็จะค่อยๆลดพฤติกรรมเอาแต่ใจไปได้มาก แต่ก็มีเด็กบางคนที่มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หรือ ข้าวของ ทำร้ายคนอื่น ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะนิ่งๆเฉยๆไม่ได้ ต้องเข้าไปจับตัวเด็กไม่ได้ทำแบบนั้น แต่ตอนที่จับตัวเด็ก ควรกอดจากข้างหลัง ล๊อคแขนไม่ให้ทำร้ายตัวเองต่อ แต่อย่าลืมว่า ห้ามตามใจ ห้ามโอ๋ แค่สะท้อนความรู้สึกว่าแราเข้าใจ(แต่ไม่ตามใจ) รอจนเงียบ ค่อยปล่อย แล้วทำตามข้อที่ 1 ถึง 3

วิธีที่บอกมาใช้ได้เมื่อเด็กพอจะเข้าใจสื่อสารกับเราได้ แต่ถ้ายังสื่อสารกันไม่เข้าใจเท่าไหร่ ให้ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ ชวนไปทำอย่างอื่น เล่นอย่างอื่น แต่อย่าตามใจเท่านั้นค่ะ หลักคือ อย่าไปตามใจ สุดท้ายถ้าเกินความสามารถจริงๆ ก็คงต้องปรึกษาจิตแพทย์เด็ก จำไว้ว่า การปล่อยให้พฤติกรรมดื้อเอาแต่ใจนี้ดำเนินไปเรื่อยๆนั้น ไม่เป็นผลดี เพราะเด็กจะยิ่งเป็นมากเมื่อโตขึ้น ยิ่งแก้ไขยาก กลายเป็นผู้ใหญ่เอาแต่ใจ ขัดใจไม่ได้ คงไม่ดีเท่าไหร่

 

ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าสื่อต่างๆที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมยังคงได้แรงเสริมจากคนส่วนใหญ่เป็นยอดขายและเรตติ้ง ถึงแม้ว่าสภาวิชาชีพจะออกมาแถลงขอโทษสักกี่ฉบับ ก็คงไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น

แต่เด็กๆที่บ้านของเรายังสามารถปลูกฝังพฤติกรรมที่ดี แม้ว่าจะอยากได้อะไรแต่ก็ระงับจิตใจได้ ถ้ารู้ว่าไม่เหมาะสมและยังไม่ถึงเวลาก็อดทนได้ ตรงนี้ต้องทำให้ได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ ถ้ารอจนโตเป็นวัยรุ่น จะกลายเป็นงานยากระดับหินของพ่อแม่ จนทำให้ต้องพาเด็กมาหาหมอบ่อยๆ

‪#‎หมอมินบานเย็น‬
‪#‎ปรับพฤติกรรมสื่อที่ไม่ดีด้วยการงดซื้องดเสพสื่อนั้นๆ‬
‪#‎ปรับพฤติกรรมลูกหลานด้วยนะคะ‬
‪#‎สุดท้ายอย่าลืมปรับพฤติกรรมตัวเอง‬


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์