ข่าวแย่ๆที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันก่อน ถึงแม้จะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย กระแสสังคมขณะนี้ เกือบทุกคนมุ่งประเด็นไปที่ การเพิ่มโทษของกฎหมายให้หนักขึ้น ส่วนตัวหมอคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ การปลูกฝังเด็กให้มีจิตสำนึกที่จะไม่ทำในสิ่งที่เบียดเบียนคนอื่น (ไม่ต้องถึงขนาดไปข่มขืน หรือ ฆ่าใคร แค่ทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ก็ไม่ควรทำ)
ความผิดบางอย่างที่คนๆหนึ่งทำกับอีกคนหนึ่ง ลำพังแต่เพียงกฎหมาย อาจไม่สามารถจัดการได้ มันเป็นเรื่องมโนธรรม ความสำนึกในใจของบุคคล เช่น เด็กคนหนึ่งไปแกล้งรังแกเพื่อน (ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความไม่เอาใจใส่ในความรู้สึกของคนรอบข้าง ทำให้เด็กคนหนึ่งอาจจะโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เบียดเบียนสังคม) เป็นโจทย์สำคัญของพ่อแม่ ที่เมื่อรักที่จะให้กำเนิดลูกมาคนหนึ่ง ก็ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อที่จะเลี้ยงให้เขาเป็นคนที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร จริงอยู่ว่าอาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นอย่างไร แต่ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ถือเป็นปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้อง
เลี้ยงลูกให้ไม่ไปข่มขืนหรือฆ่าใคร ทำอย่างไร?
1. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นอาชญากร ก็คือ พ่อแม่ทำในเรื่องผิดๆให้ลูกเห็นบ่อยๆ หรือเด็กเห็นตัวอย่าง อยุ่ในสภาพแวดล้อมที่มี อาชญากรรม หมอเคยดูคนไข้ที่มาด้วยเรื่องขโมยของเพื่อน เมื่อซักประวัติไป ก็พบว่าพ่อของเด็กก็เป็นคนที่ชอบคดโกง เอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง เมื่อเด็กเห็นสิ่งไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะมองว่าเรื่องไม่ดีเป็นเรื่องปกติที่คนทำกัน
2. พ่อแม่ต้องมีความใกล้ชิดผูกพัน ให้ความอบอุ่น
เด็กจะรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไว้วางใจพ่อแม่ เป็นพื้นฐานจิตใจที่จะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่ทำอะไรให้คนอื่นเสียใจ เริ่มที่เห็นใจพ่อแม่ เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เป็นทุกข์หรือเสียใจ และตรงนี้จะกลายเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆต่อไป
3. รักลูกให้ถูกทาง
พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ความรักแบบมีสติเป็นเรื่องจำเป็น บางคนรักลูกมาก ตามใจทุกอย่าง อยากให้อะไรก็ให้ ลูกก็จะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจถ้าทำในเรื่องที่คนอื่นเดือดร้อน
4. สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบและควบคุมตัวเอง
เด็กๆจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ต้องรู้จักที่จะควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าอะไรควรไม่ควรทำ มีวินัย รับผิดชอบ ถ้าพ่อแม่ไม่สอน เด็กๆก็จะไม่รู้
5. ให้รู้จักว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ
พ่อแม่ควรจะใจดี ใจเย็น แต่ไม่ควรใจอ่อนเกินไปเวลาที่บอกเด็กว่าอะไรที่ต้องทำ หรือห้ามทำอะไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกว่าเด็กคงไม่ชอบที่พ่อแม่ขัดใจ แต่ก็ต้องยืนยันไปตามที่ตกลงกัน เขาจะรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ