ฝึกวินัยการกินให้ลูก....ปลูกฝังได้ตั้งแต่เล็กๆ

ฝึกวินัยการกินให้ลูก....ปลูกฝังได้ตั้งแต่เล็กๆ

ปัญหาการกิน เป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุดในการเลี้ยงดูเด็กช่อง 5 ปีแรก (ผลการสำรวจจากงานวิจัยของ วรุณา กลกิจโกวินท์ ปี 2542) 
ซึ่งสร้างความหนักอกหนักใจให้กับพ่อแม่ และบางคนมีปัญหาการกินไปจนโต มาดูกันครับว่า ทำไมต้องฝึกวินัยการกิน และจะฝึกอย่างไร

     1. เด็กเรียนรู้เรื่องการใช้ปาก ตั้งแต่แรกเกิด 

(คือการดูดนม) ในขวบปีแรก เราให้เด็กเรียนรู้เรื่องการกินอย่างเหมาะสมได้ คือ ตอบสนองเด็กโดยไม่ควรปล่อยให้เด็กร้องหิวนมนานเกินไปในทางตรงกันข้ามเมื่อใกล้วัยหนึ่งขวบ สามารถฝึกชะลอให้เด็กอดทนรอคอยการกินได้ (แต่ต้องตอบสนองกับเด็ก เช่น บอกลูกว่ารอแม่เก็บผ้าเสร็จก่อนแป๊ปนึงนะจ๊ะ เดี๋ยวแม่ให้กินนม) 

โดยไม่ใช่ให้เด็กกินได้ตามใจตลอดเวลา

     2. เมื่อเข้าขวบปีที่สอง เป็นช่วงสำคัญที่เด็กจะได้เรียนรู้วินัยการกิน 

เด็กจะเริ่มสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงเรื่องการกิน เด็กจะอยากทำอะไรด้วยตัวเอง ดังนั้นพ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กกินอาหารกับช้อนเอง พ่อแม่มักกังวลว่าจะเลอะเทอะ หรือกินได้ปริมาณน้อย หรือกลัวช้าไม่ทันเวลา จึงป้อนให้เสียเอง เท่ากับว่าไปปิดโอกาสการพัฒนาทักษะของกล้ามเนื้อมัดเล็ก 

การฝึกการประสานงานระหว่างตากับมือ และการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองของเด็กที่จะเกิดความภาคภูมิใจที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง...เรื่องเลอะเทอะ ไว้ค่อยเก็บกวาดทีเดียวครับ

     3. สร้างบรรยากาศการกินให้กับเด็ก ฝึกให้เด็กนั่งกับโต๊ะ (ไม่เดินไป กินไป) 

กินพร้อมกันร่วมกับพ่อแม่ กินเป็นเวลา ไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นของเล่น เพราะเด็กจะเสียสมาธิและไม่เห็นความสำคัญของการกินเพื่อสร้างทัศนคติเรื่องการกินให้เด็กว่า การกินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเหมือนกิจวัตรอื่นๆ และทุกคนต้องทำเหมือนกัน (บางครอบครัวพ่อแม่เองยังกินไม่เป็นเวลา หรือกินข้าวหน้าโทรทัศน์ ถ้าจะฝึกต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อน) สำหรับเด็กเล็กๆ ช่วงแรกๆบางคนอาจยังเล่นไปกินไปบ้าง เพื่อความเพลิดเพลิน ก็ควรค่อยๆ ลดกิจกรรมเหล่านั้นไปเรื่อยๆ จนเหลือการกินอย่างเดียว

     4. กำหนดเวลากินแต่ละมื้อ 

เช่น ไม่เกินครึ่งชั่วโมงต่อมื้อ เมื่อหมดเวลาต้องเก็บอาหาร และไม่มีการกินเวลาอื่น หรือให้กินขนมแทน เพื่อให้เด็กเรียนรู้กฎว่าถ้าไม่กินตามเวลาจะต้องทนหิว เพื่อรอเวลาอาหารมื้อถัดไป การที่เด็กอดไปไม่กี่มื้อ ไม่ได้ทำให้เด็กขาดสารอาหารและไม่โต แต่ทำให้เด็กเรียนรู้วินัยการกินที่ดีในระยะยาว

     5. ไม่ควรให้กินขนมใกล้เวลาก่อนมื้ออาหาร เพราะจะทำให้เด็กอิ่มและกินได้น้อย


ฝึกวินัยการกินให้ลูก....ปลูกฝังได้ตั้งแต่เล็กๆ

     6. ดัดแปลงอาหารบ้างเป็นครั้งคราว 

เพื่อให้ดูน่ากิน เช่น มีสีสันหรือทำเป็นรูปตัวการ์ตูน

     7. ชักชวนเด็กให้มามีส่วนร่วม

ในการทำอาหารในส่วนที่เด็กสามารถทำได้และไม่อันตราย เด็กจะตื่นเต้นและภูมิใจที่ได้กินอาหารฝีมือตัวเอง

     8. ไม่ควรตักอาหารใส่จานเด็กปริมาณมากเกินไป 

เด็กจะหมดกำลังใจถ้ากินไม่หมด ถ้าไม่อิ่มค่อยเติม

     9. ถ้าจะให้เด็กลองอาหารใหม่ๆที่ไม่เคยกิน ควรนำเข้ามาทีละนิดร่วมกับอาหารที่เด็กชอบ 

การที่เด็กปฏิเสธอาหารชนิดนั้นในครั้งแรกๆ ไม่ได้แปลว่าเด็กจะไม่กินอาหารชนิดนั้นอีก (ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสามารถให้เด็กได้ลองเป็นระยะ ได้ถึง 10 ครั้ง)10. ชม ให้กำลังใจเมื่อเด็กกินข้าวจนหมด ไม่ควรไปบังคับ ขู่ให้เด็กกิน 

ผลที่ได้อาจตรงกันข้ามคือเด็กจะต่อต้านการกินมากกว่าเดิม

     11. พ่อแม่ไม่ควรกังวลกับการกินของลูกมากเกินไป การกินมากกินน้อย ลูกอ้วนหรือผอมไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเป็นพ่อแม่ที่ดีหรือไม่ดี แต่ความเข้าใจธรรมชาติของลูกเราเองต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญไม่ควรหวั่นไหวไปกับเสียงวิจารณ์ของญาติผู้ใหญ่หรือคนอื่นๆมากเกินไป จนเกิดความกังวล เช่น กลัวลูกกินได้น้อย จนต้องตามป้อน หรือให้กินระหว่างมื้อได้ตามใจ จะทำให้กระบวนการข้างต้นไม่ประสบความสำเร็จ

     12. ผู้ใหญ่ในบ้านควรคุยข้อตกลง

เรื่องการปรับพฤติกรรมการกินของเด็กให้เป็นในทิศทางเดียวกันหากขัดแย้งกันเอง เช่น แม่เก็บอาหารเมื่อเด็กไม่ยอมกินตามเวลา ยายมาป้อนให้ทีหลัง 

จะทำให้การปรับพฤติกรรมเด็กไม่ประสบความสำเร็จ

     13. การฝึกวินัยการกิน ช่วยให้เด็กฝึกความอดทน การควบคุมตนเอง 

เรียนรู้กฎในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นพื้นฐานในมีวินัยในเรื่องอื่นๆได้เช่นกัน 
ในระยะยาวเด็กจะเชื่อฟังและพ่อแม่ไม่ต้องเหนื่อยในการจ้ำจี้จ้ำไชเด็กอีกต่อไปครับ

‪#‎หมอไปป์‬ แฮปปี้คิดส์


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์