ในสมัยก่อนการเลี้ยงลูกที่ดีต้อง รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็นสำนวนสุภาษิตที่หมายถึง หากลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว และลงโทษเมื่อกระทำความผิดตามสมควร แต่ถ้าในสมัยนี้ การลงโทษไม่ได้หมายถึงเฉพาะการตีลูกเท่านั้น มีอีกหลายวิธีที่สร้างสรรค์มากกว่า พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการของลูก เพราะบางครั้งสิ่งที่ลูกทำอาจเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นตามช่วงวัยใช่ว่าจะ เกิดจากอาการดื้ออาการซนและอยากลองดีเท่านั้น และจะเลือกใช้วิธีไหน คุณพ่อคุณแม่คงต้องดูพฤติกรรมและการตอบสนองของลูกเราเป็นหลัก
0-1 ปี วัยยังไม่รู้เหตุรู้ผล
วัยนี้ยังเล็กมากเหลือเกินที่จะเข้าใจความหมายและฟังการตักเตือนของคุณ ลูกยังบอกความต้องการไม่ได้นอกจากการร้องอือ อา หรือชี้นิ้วบอก หาสาเหตุที่ลูกร้องก่อนเพราะลูกอาจจะป่วยอยู่ก็ได้ สิ่งที่แม่ควรทำนอกจากจะโมโหใส่ลูกคือ ต้องอดทนและใจเย็นเท่านั้น คุณแม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจ ถ้าลูกน้อยกำลังสนใจอะไรที่ดูท่าว่าจะอันตรายหรือไม่เหมาะไม่ควร เช่น ร้องจะเอามือแหย่ปลั๊กไฟให้ได้ สำหรับลูกวัยนี้มีวิธีเดียวค่ะคือเบี่ยงเบนความสนใจเพราะวัยนี้สนใจอะไร เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เดี๋ยวเดียวก็ลืมแล้ว หากมีของเล่นชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า
1-3 ปี วัยทีเล่นทีจริง
ช่วงวัยแห่งการเลียนแบบเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรก็นึกอยากจะทำตามเล่นด้วย เป็นวัยแห่งความอยากรู้อยากเห็นไม่มีที่สิ้นสุด อยากรู้อยากเห็นไปเสียหมด แถมบางครั้งแม่ก็ยังทำไม่ถูกใจหนูเสียอีกแต่ครั้งจะบอกก็ยังพูดไม่คล่อง อาการอึดอัดขัดใจแบบนี้ล่ะค่ะที่ทำให้หนูโมโหวีนแตกพลอยให้แม่หงุดหงิดไปด้วย คุณแม่ควรเชื้อเชิญของเล่นชิ้นใหม่ เช่น ถ้าลูกน้อยชอบที่จะรื้อตู้เสื้อผ้า ลองชวนไปเล่นบอลข้างนอกหรือเล่นตุ๊กตา วาดรูป จะดีกว่าเอ็ดใส่ลูก ด้วยคำพูดและน้ำเสียงที่เชื้อเชิญว่าน่าสนุกของคุณแม่เป็นหลุมพลางให้ลูก เดินตามไปได้ง่าย
นิ่งเสียตำลึงทอง
เห็น ลูกร้องกรี๊ดก็นิ่งเสียค่ะ อย่าแว้ดกลับต้องข่มใจ(ทั้งที่ยากแสนยาก) บอกลูกด้วยคำสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย และสีหน้าเป็นมิตร เช่น “หนูบอกแม่ดีๆ ว่าต้องการอะไร กรี๊ดแบบนี้แม่ฟังไม่รู้เรื่องนะคะ” วัยนี้พอจะเข้าใจและรับรู้ถึงท่าทีของเราแล้ว เมื่อบอกเสร็จก็หันกลับแล้วเฉยเสีย จากนั้นก็คอยดูท่าทีลูก สักพักถ้าเขาสงบลงไม่ว่าลูกจะเดินมาหรือเปล่าควรเข้าไปกอดลูกแล้วบอกเหตุผล ว่าทำไมแม่ถึงไม่ให้หนูทำหรือไม่ให้หนูเล่น เท่านี้ก็เข้าใจแล้วค่ะ(แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าคราวต่อไปจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะลูกยังเล็กนักค่ะ อาศัยความถี่ในการใช้วิธีการเหล่านี้ เมื่อลูกโตขึ้นอีกหน่อยก็จะเข้าใจมากขึ้น)
คำว่า “ไม่” “อย่า” “ห้าม” ใช่ว่าจะดีเสมอ
จริงๆ แล้วการสั่ง”ห้าม” ไม่ให้ทำสิ่งนั้นๆ ยิ่งเป็นการยั่วยุ กระตุ้นให้มนุษย์ตัวเล็กของเรา อยากรู้อยากเห็น ประมาณว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ถ้าอยากเปิดลิ้นชักคุณพ่อจังเลยก็บอกเขาว่าตู้นั้นเป็นของคุณพ่อ หนูเปิดไม่ได้ต้องขออนุญาตก่อน แต่ถ้าหนูอยากเปิดให้เปิดกล่องของเล่นหนูแทนดีกว่า แล้วก็ใช้ภาษามือกวักเรียกลูกแล้วชี้มาที่กล่องด้วยสีหน้าเชื้อเชิญและยิ้ม แย้มแจ่มใสนะคะ ลูกจะได้คล้อยตามหน้าตาคุณแม่ว่าน่าสนุกจริงๆ ไงคะ
3-6 ปี วัยช่างรู้.
วัย แห่งความมาดมั่นมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เขาจะคิดว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งและจะชอบมากที่จะทำอะไรได้เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ ความคิดและจินตนาการรุดหน้า แต่ด้วยความเป็นเด็ก มีหลายอย่างที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ด้วยพฤติกรรมของลูกวัยนี้นี่เองที่มักเป็นชนวนเปิดศึกให้พ่อกับแม่ได้ง่ายๆ แต่อย่าลืมว่าวัยนี้เขาสามารถเข้าใจเหตุผลมากขึ้นเป็นลำดับแล้ว การบอกเหตุผลคู่ไปกับการลงโทษจะใช้ได้ผลดี ต้องเริ่มสร้างกฎกติกาเพื่อฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้แล้ว เพื่อเป็นการปูทางสร้างพฤติกรรมที่ดีให้ลูกในอนาคต