หยุด!! เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

หยุด!! เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

คนแต่ละคน “พร้อม” ไม่เท่ากัน คนแต่ละคน “ถนัด” ไม่เหมือนกัน คนแต่ละคน “สนใจ”ในเรื่องที่แตกต่างกัน อย่าได้เอาลูกเพื่อน หรือ เพื่อนลูก มาวัดกับลูกเราเด็ดขาด ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า  การเปรียบเทียบคือสิ่งที่จะทำร้ายลูก และเป็นการปลูกฝังนิสัยที่จะต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นให้ลูกด้วย

การเปรียบเทียบมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปในทุก ๆ สังคม หรือแม้แต่ในทุก ๆ ครอบครัวเลยก็ว่าได้ และหากลองสังเกตดี ๆ การเปรียบเทียบหลายต่อหลายครั้งเกิดจากความตั้งใจและปรารถนาดีของพ่อแม่ แต่มันกลายเป็น สิ่งที่ทำร้ายจิตใจลูกอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยคำพูดที่ดูไม่มีอะไร เช่น “ดูซิ เด็กบ้านโน้นเค้ายังทำแบบนี้ได้เลยนะ ทำไมหนูทำไม่ได้”  หรือ “ดูพี่คนนั้นซิ เค้าเก่งนะ ทำนี่ก็ได้ ทำโน้นก็ดี หนูต้องทำให้ได้แบบเค้านะลูกนะ”   คนแต่ละคน เติบโตมาในสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน บุคลิก ลักษณะ นิสัย ความสนใจ และสภาพทางกายภาพของคนทุกคนก็ต่างกันออกไป ไม่ต้องคิดอะไรมากคะ พีน้อง คลานตามกันมาแท้ ๆ ยังแตกต่างกันเลย นับประสาอะไร กับลูกคนอื่น

กาลครั้งหนึ่ง เคยได้ยินคำว่า การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจะทำให้เกิดแรงฮึด !!!  แต่นั่นคือหนึ่งส่วนในสิบส่วนหรือเปล่าคะ แล้วคิดว่าแรงฮึดแบบที่ว่านี้ เด็กอนุบาล เด็กประถม สามารถเข้าใจจุดจุดนั้นได้หรือไม่ เราเองเป็นพ่อเป็นแม่ หากลองคิดในมุมกลับกันบ้างว่า ถ้าวันหนึ่ง ลูกเอ่ยว่า “แม่ ทำไมบ้านโน้นเค้าทำกับข้าวอร่อยกว่า สอนการบ้าน ก็ไม่เสียงดัง ไม่ดุ ไม่ตี แม่ต้องทำให้ได้แบบแม่บ้านโน้นนะคะ”  ถ้าเป็นแบบนี้บ้าง รู้สึกอย่างไรคะ แล้วก็ไม่แปลกที่เด็กที่เติบโตมากับการถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ช่างเปรียบ ช่างเทียบ เพราะเขาก็ถูกหล่อหลอมมาเช่นนั้น

 

     - อย่าทำให้โลกของลูกเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ว่า ตัวเองด้อยค่า เพราะทำอะไรก็ไม่ดีเท่าคนอื่น

     - อย่าทำให้ลูกเติบโตมาแบบไม่แน่ใจว่า ตกลงฉันมีอะไรดีบ้าง เพราะฉันไม่เท่าเทียมกับคนอื่นเลย และอย่าให้ลูกเติบโตมาด้วยไม่แน่ใจว่า พ่อแม่เห็นความดีในตัวหนูบ้างไหม ?

     - เพราะเห็นแต่ชมลูกคนอื่น บอกว่าลูกคนอื่นดีอยู่ตลอด แล้วหนูหละ ??

 

เปลี่ยนมุมมองกันใหม่ดีกว่าคะ  อย่ามัวแต่คิดว่า ลูกเราด้อยยังไง ทำอะไรได้น้อยกว่าลูกคนอื่นแค่ไหน หรือลูกเราเสียเปรียบลูกคนอื่นเรื่องอะไร ลองเปลี่ยนเป็นช่วยกันเสริมสร้างความรู้สึก ภาคภูมิใจในสิ่งที่ลูกเรามี ลูกเราเป็น ช่วยกันดึงข้อดีที่มีออกมาสนับสนุน และช่วยกันพัฒนาจุดอ่อนที่ยังต้องฝึกฝนไปด้วยกัน ชี้ให้ลูกเห็นว่า จุดนี้เราต้องพยายามเพิ่ม เพราะอะไร ไม่ใช่เพื่อให้เท่าเทียมกับใคร  สอนให้ลูกมีจุดพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี แต่ก็เรียนรู้ที่จะสร้างแรงบันดาลใจที่จะก้าวต่อไปด้วยแรงที่มาจากข้างในตัวเอง ไม่ใช่มีคนอื่นเป็นเครื่องวัดตัวเรา ทุกชีวิตมีสิ่งที่ดีในตัวเองซ่อนอยู่เสมอ แค่เราหาให้เจอและชื่นชมในสิ่งที่เรามี อย่างเห็นคุณค่า เราจะมีชีวิตที่พอใจและสุขใจจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น ……


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์